วันพุธที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560

พิกุลทอง

  พบกับวรรณคดีแสนสนุกเรื่องราวของ "พิกุลทอง" ซึ่งเป็นบทละครนอกที่นิยมนำมาเล่นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีข้อคิดคติสอนใจมากมาย ด้วยเนื้อหาที่สนุกสนานชวนติดตามและสอดแทรกด้วยคติคำสอน ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี   



เนื้อเรื่อง


"นางพิกุลทอง" เป็นธิดาของ "ท้าวสัณนุราช" กับพระมเหสี คือ "นางพิกุลจันทรา" ผู้ครองเมืองสรรพบุรี (ในสมุดไทยเขียนว่าเมือง สันทบุรี) เมื่อย่างเข้าวัยรุ่นสาว ความงามของนางเป็นที่เลื่องลือว่ายากที่จะหาผู้หญิงคนใดเสมอเหมือนได้ ซึ่งนอกจากเวลาพูดกับใครจะมีดอกพิกุลทองร่วงจากปาก แล้วยังมีเส้นผมที่หอมอีกด้วย วันหนึ่งนางพิกุลทองเกิดร้อนรุ่มกลุ้มอุรา จึงได้ลาท้าวสัณนุราชไปเล่นน้ำกับพระพี่เลี้ยงในลำธาร ท้าวสัณนุราชจึงให้วางตาข่ายและทุ่นไว้รอบท่าน้ำ เพราะโหรทำนายว่านางจะต้องพลัดพรากจากเมือง
จะกล่าวถึงพญาแร้งชื่อว่า "ท้าวสุบรรณปักษา" บินมาเห็นซากสุนัขเน่าจึงโฉบนำกลับไปจิกกินลอยมาใกล้บริเวณที่นางพิกุลทองกับพี่เลี้ยงเล่นน้ำอยู่ นางพิกุลทองได้กลิ่นเหม็นเน่าจึงใช้ให้พี่เลี้ยงไปดูก็พบพญาแร้งกำลังกินซากนั้นอยู่จึงได้พากันด่าว่าแล้วขับไล่ด้วยคำหยาบช้าต่างๆ นานา ฝ่ายท้าวปักษาก็โกรธจัดกล่าวว่า สุนัขเน่านี้ คือ อาหารของตนอยู่แล้ว นางพิกุลทองเป็นลูกเจ้าท้าวพระยาไม่น่ามากล่าวเจรจาด่าว่าขับไล่ตนเช่นนี้ว่าแล้วก็บินหนีไป แต่ท้าวปักษีก็ยังคิดจะแก้แค้นนางพิกุลทองให้ได้จึงออกอุบายแปลงกายเป็นหนุ่มรูปงามไปขออาศัยอยู่ที่กระท่อมท้ายสวนขวัญของเมืองสรรพบุรี แล้วคอยเนรมิตทองคำให้ 2 ตายายใช้จนร่ำรวย โดยบอกว่าตนไปพบตอนขุดเผือกมัน อยู่มาวันหนึ่งจึงรบเร้าขอให้ 2 ตายายเข้าไปสู่ขอนางพิกุลทองมาเป็นภรรยา 2 ตายายฟังแล้วหัวใจแทบวายกล่าวว่าคิดเกินตัวอย่างนี้จะถูกประหารเจ็ดชั่วโคตร ท้าวปักษาแปลงจึงแสร้งทำเป็นตรอมใจใกล้ตาย 2 ตายายจึงจำใจเข้าไปทูลสู่ขอนางพิกุลทองจากท้าวสัณนุราชได้ทราบความดังกล่าวก็กริ้วจัด กล่าวว่าถ้าคิดว่าหลานชายมีบุญวาสนาจะได้คู่กับนางจริงใกล้สร้างสะพานเงินสะพานทองจากท้ายสวนมาถึงพระราชวังภายใน 3 วันมิเช่นนั้นจะประหารทั้งโคตร 2 ตายายหลังจากกลับมาถึงบ้านแล้วก็นั่งซึม เอาแต่ร้องไห้แล้วต่อว่าท้าวปักษาที่หาเรื่องเดือดร้อนมาให้ตน ครั้นท้าวปักษาได้ทราบเรื่องต้องสร้างสะพานทองแล้วจึงกล่าวปลอบใจว่าถ้าตนทำไม่เสร็จจะยอมตายแทน 2 ตายายจึงค่อยโล่งใจบ้าง พอตกค่ำท้าวปักษาก็บอกว่าจะขอออกไปทำธุระข้างนอกจากนั้นก็แปลงเป็นพญาแร้งขนาดมหึมาบินกลับไปยังเขานินทะกาลา แล้วเกณฑ์ไพร่พลทั้งหลายให้มาช่วยสร้างสะพานจนแล้วเสร็จ
ครั้นรุ่งเช้า ท้าวสัณนุราชกับพระมเหสีมองออกไปเห็นสะพานเงินสะพานทองเป็นอัศจรรย์ เสร็จตามข้อตกลงดังกล่าวจึงคิดว่ามาณพผู้นี้คงจะมีบุญ แล้วจัดอภิเษกสมรสนางพิกุลทองให้กับท้าวปักษาและนางพิกุลทอง ซึ่งตลอดเวลาเมื่ออยู่ใกล้กันนางพิกุลทองก็ได้กลิ่นสาบแร้งจนเวียนหัวบ่นว่าต่างๆ นานา ส่วนท้าวปักษาก็มิอาจจะเข้าใกล้สมัครสังวาสได้ เพราะไม่ได้นึกรัก ประกอบกับเทวดาดลใจ คงมีแต่ความแค้นที่นางเคยด่าว่า
ครั้นอยู่มาได้ 3 วัน ท้าวปักษาจึงออกอุบายว่าจะชวนนางกลับไปกราบบิดามารดาของตน จากนั้นก็พากันลงเรือสำเภา 500 ลำล่องไปได้ 3 เดือน ก็มาถึงหาดแก้วพยัคฆีหน้าเมือง ท้าวปักษาจึงให้นางรออยู่ในเรือเพื่อจะขึ้นไปแจ้งให้บิดามารดาตนทราบก่อน แท้ที่จริงท้าวปักษากลับไปเกณฑ์บริเวณนกแร้งทั้งหลายให้มากินคนบนเรือเสียให้หายแค้น ส่วนนางพิกุลทองนั้นตนจะจัดการกินเองห้ามนกตัวไหนแตะต้องมีโทษถึงตาย ฝูงนกก็ดีใจพากันบินมาจับไพร่พลบนเรือกินเสียหมดทั้ง 500 ลำ ส่วนนางพิกุลทองนั้นได้รับความช่วยเหลือจาก แม่ย่านาง วิญญาณประจำเรือ รู้ว่าพญาแร้งคิดไม่ซื่อ จึงเนรมิตห้องคูหาแล้วนำนางพิกุลทองไปซ่อนไว้ในปลายเสากระโดงเรือ พญาแร้งโกรธมากด่าว่าลูกน้องไม่เชื่อฟังหาว่ากินไม่ดูตามาตาเรือดันไปกินเอานางพิกุลทองไปด้วยแล้วก็พากันบินกลับไป แต่กระนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่านางตายจริง ก็จึงให้บริวารบางส่วนคอยเฝ้าดูเรือไว้
ฝ่ายแม่ย่านางครั้นเห็นพญาแร้งกับบริวารบินกลับไปหมดแล้ว จึงได้พานางพิกุลทองออกมาจากที่ซ่อนเพื่อสรงน้ำ เส้นผมของนางที่ไม่เคยหลุดร่วงเลย ก็ร่วงลงมา นางสงสัยว่าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น นางจึงเสี่ยงทายเสยเอาเส้นผม และดอกพิกุลทองใส่ผอบพร้อมจารึกชื่อ และเรื่องราวลงไปด้วยเพื่อหาผู้มีบุญมาช่วยเหลือ ผอบทองลอยไปจนถึง "เมืองพรหมกุฏปัญจาละ" ซึ่งมี "พระสังข์ศิลป์ชัย" และ "นางสุพรรณ" ปกครอง มีพระโอรสเก่งกล้าองค์หนึ่งชื่อ "พระพิชัยมงกุฏ" (ในฉบับตัวเขียนว่าชื่อ "พระพิไชยวงศ์กุฏ") ขณะนั้นทั้ง 3 กษัตริย์ได้มาสรงน้ำที่ท่าน้ำนอกเมือง เห็นผอบทองลอยทวนน้ำมา พระพิชัยมงกุฏจึงเสี่ยงพระสังข์วิเศษไปกล่าวว่าถ้ามาดีให้ช้อนขึ้นมา ถ้ามาร้ายให้สังข์วิเศษทำลายเสีย ปรากฏว่าสังข์ก็ไปช้อนผอบขึ้นมา เมื่อเปิดข้อความดูเห็นเส้นผม, ดอกพิกุล และจารึกเรื่องราวก็ถึงกับหลงไหลกินไม่ได้นอนไม่หลับ พระสังข์ศิลป์ชัยได้ทราบอาการก็ตกพระทัย พระพิชัยมงกุฏจึงขอลาไปตามหานางพิกุลทอง จึงโปรดให้สังข์ ศร และพระขรรค์วิเศษไปป้องกันตัวและให้จัดแต่งเรือสำเภาพร้อมไพร่พลไปตามประสงค์ กองเรือแล่นมาหลายวันจนกระทั่งถึงเกาะใหญ่กลางทะเล ซึ่งเป็นเขตของ "นางยักษ์กาขาว" ซึ่งลอบเข้ามาในเรือด้วยความสงสัย ครั้นเห็นพระพิชัยมงกุฏรูปร่างสง่างามก็หลงรัก จึงแอบอุ้มพาไปขณะหลับ แล้วเนรมิตเมืองขึ้นบนเกาะแล้วแปลงเป็นหญิงสาวอยู่ในเมืองนั้น ครั้นพระพิชัยมงกุฏตื่นมาเห็นบ้านเมืองกับหญิงงามก็เข้าใจว่าเป็นนางพิกุลทอง จึงเกี้ยวนางจนได้เป็นภรรยา แต่ยังสงสัยว่าได้กลิ่นสาปสาง, ผมไม่หอมของนางยักษ์กาขาว ตกดึกเทพารักษ์จึงได้มาบอกให้รีบหนีไปเพราะนางเป็นยักษ์แปลงมาแล้วบอกทางให้แล่นเรือไปทางตะวันออก 3 วันก็จะถึงหาดแก้วพยัคฆี
ครั้นพระพิชัยมงกุฏเดินทางมาถึงเห็นกองเรือร้างจอดอยู่ จึงให้ไปค้นเรือทุกลำก็พบแต่กระดูก ฝ่ายนางพิกุลทองได้ยินเสียงจึงลาแม่ย่านางออกมาจากเสากระโดงเรือและเข้าพบกับพระพิชัยมงกุฏด้วยความยินดี
(โอด) เมื่อนั้นพระไชยวงศ์กุฏเห็นนางเร่งหรรษา
เห็นนางทรงโศกโศกาหอมเส้นเกศาตระลบไป
พิกุลทองตกลงจากโอษฐ์ให้โปรดพิศวงหลงใหล
ยอกรฟักฟูมเข้าอุ้มไว้ฟังพี่อย่าได้โศกา
พี่ได้ผอบมาติดตามประสบสมดังความปรารถนา
ขอเชิญนงเยาเล่ากิจจาแรกเริ่มเดิมมาประการใด
ขณะนั้นบริวารของพญาแร้งเห็นผู้คนมาเอะอะวุ่นวายจึงรีบบินไปบอกแก่ท้าวปักษา กล่าวว่าชะรอยนางพิกุลทองจะยังไม่ตาย ท้าวปักษาจึงรีบพาบริวารมาทันที ครั้นเห็นนางพิกุลทองหลบอยู่กับพระพิชัยมงกุฏก็เจรจาตอบโต้อยู่พักหนึ่งแล้วทำการรบกัน พระพิชัยมงกุฏจึงแผลงศรวิเศษไปถูกอกท้าวปักษาตายกลางอากาศพร้อมกับบริวารทั้งหลาย ครั้นเสร็จศึกแล้ว จึงพานางพิกุลทองกลับไปยังบ้านเมืองของตนต่อไป ฝ่ายนางยักษ์กาขาว ครั้นตื่นขึ้นมาไม่เห็นพระพิชัยมงกุฏ จึงคว้ากระบองออกไล่ติดตามไปถึงเมืองพรหมกุฏปัญจาละ แต่เกรงอำนาจจึงเข้าเมืองไม่ได้ ก็ซ่อนตัวอยู่ที่ต้นไทรในสวน
หลังจากพิธีอภิเษกสมรสแล้ว ต่อมานางพิกุลทองก็ประสูติพระโอรส 2 พระองค์ คนพี่มีนามว่า "พระรัก" ส่วนโอรสองค์รองนามว่า "พระยม" อยู่มาวันหนึ่งทั้ง 4 กษัตริย์ก็เสด็จประพาสที่บึงบัวเพื่อเก็บบัวมาบูชาพระปฏิมา ฝ่ายนางยักษ์กาขาว ครั้นรู้ว่าพระพิชัยมงกุฏได้อภิเษกกับนางพิกุลทองแล้ว ก็ให้เคียดแค้นเป็นยิ่งนักหมายจะทำร้ายนางพิกุลทองเสียให้หายแค้น จึงแปลงร่างเป็นดอกบัวทองอยู่ใต้น้ำ ครั้นเรือผ่านมานางพิกุลทองเห็นเข้าก็ประหลาดใจในความงามจึงเอื้อมมือลงไปเด็ด นางยักษ์กาขาวได้ทีจึงฉุดนางพิกุลทองลงไปใต้น้ำแล้วสาปให้กลายร่างเป็นนางชะนีพิกุลทอง จะพ้นสาปได้ก็ต่อเมื่อนำเลือดของนางยักษ์กาขาวมาชโลมตัว ส่วนนางยักษ์กาขาวก็จดจำและแปลงร่างเป็นนางพิกุลทองแทน ครั้นพระพิชัยมงกุฏช่วยฉุดขึ้นมาครั้งแรกเป็นนางยักษ์กาขาวแปลง นางยักษ์กาขาวก็รีบเป่ามนต์ให้หลงไหล พระรักและพระยมก็ร้องไห้บอกว่าไม่ใช่คุณแม่ของตน แต่เมื่อเห็นนางชะนีพิกุลทองผุดขึ้นมาจากน้ำกลับร้องว่าเป็นคุณแม่และไม่ยอมกลับวัง พระพิชัยมงกุฏจึงกริ้วขับไล่ให้ไปอยู่กับนางชะนีพิกุลทองในป่า แล้วพระองค์ก็พานางยักษ์กาขาวแปลงกลับเข้าวัง 2 พี่น้องร้องไห้หาคุณแม่จนหิว แต่นางชะนีพิกุลทองก็กำลังคลุ้มคลั่งด้วยมนต์ของนางยักษ์กาขาว คอยแต่จะหนีเข้าป่าท่าเดียว
(เพลง) เมื่อนั้นพระกุมารอุ้มน้องแล้วร้องไห้
ค่อยลอดลัดตัดเดินดำเนินไปถึงที่ต้นไทรพระมารดา
จึงร้องเรียกอยู่แจ้วแจ้วลูกมาถึงแล้วพระแม่ขา
ลงมาส่งนมพระลูกยาน้องข้าอยากนมเป็นเหลือใจ
แม่เจ้าประคุณของลูกเอ๋ยกรรมสิ่งใดเลยมาซัดให้
ทูลหัวนั่งนิ่งบนกิ่งไม้ไขหูเสียใยไม่นำพา
ร้องเรียกมารดาขึ้นไปเล่าแม่เจ้าประคุณลูกมาหา
น้องยมอยากนมพ้นปัญญาส่งนมลูกเถิดราแม่ดวงใจ
พอมีสติขึ้นบ้างก็เล่าเรื่องให้ลูกฟังแล้วให้เก็บดอกพิกุลทองที่หล่นออกมาเอาไปขายเพื่อซื้อข้าวกิน ครั้นนางวิเสทชาววังออกมาเห็นก็พา 2 พระโอรสเข้าไปในเมืองแล้วกราบทูลให้พระสังข์ศิลป์ชัยทราบ 2 พี่น้องจึงเล่าเหตุการณ์นางยักษ์กาขาวแปลงให้พระอัยกาฟัง พระสังข์ศิลป์ชัยและพระมเหสีถึงกับกริ้วจัด ตรัสให้เรียกพระพิชัยมงกุฏเข้าเฝ้าแล้วสอบสวนเรื่องนางพิกุลทอง นางยักษ์กาขาวแปลงก็พูดตลบแตลงวกวนไปมา พระนางสุพรรณจึงกระซิบให้พระพิชัยมงกุฏดูอาการของนางยักษ์กาขาวที่ไม่มีแววตาและไม่มีดอกพิกุลทองร่วงจากปาก แล้วออกอุบายให้พระโอรสบอกกับนางยักษ์กาขาวแปลงว่าจะออกไปคล้องช้างเผือก ครั้นพระพิชัยมงกุฏ พระลักษณา และพระยมยศเข้าไปทำจั่นจนดักได้ตัวนางชะนีพิกุลทอง เมื่อเห็นพระพิชัยมงกุฏก็ร้องเรียก "ผัวๆ" จนถามนางชะนีได้ความว่าต้องฆ่านางยักษ์กาขาวแล้วเอาเลือดมารดก็จะหายเป็นปกติ ฝ่ายนางยักษ์กาขาว ซึ่งลอบเห็นเหตุการณ์รู้ว่าความแตกจึงกลับคืนร่างเดิมออกอาละวาด แต่ถูกพระพิชัยมงกุฏสังหารนางยักษ์ แล้วรองเอาเลือดมารดนางพิกุลทองจนกลับร่างเป็นมนุษย์ตามเดิม
ต่อมานางพิกุลทองก็จะกลับไปเยี่ยมท้าวสัณนุราชที่เมืองสรรพบุรี จึงล่องเรือสำเภาไปในทะเลได้ 7 ราตรี "นางยักษ์กาสุวรรณ" ซึ่งเป็นน้องสาวของนางยักษ์กาขาว ทราบข่าวว่า พี่สาวตนถูกพระพิชัยมงกุฏฆ่าตายก็แค้นใจตามมาอาละวาดจนเรือแตกผู้คนตายหมด จน 4 กษัตริย์พลัดพรากจากกัน โดยที่เทวดาบังตาไว้ไม่ให้นางยักษ์กาสุวรรณเห็นกษัตริย์ทั้ง ถ องค์นางพิกุลทองถูกน้ำซัดไปอีกทางหนึ่ง "พระสมุทรเทวา" เกิดความสงสารจึงเนรมิตขอนไม้ใหญ่ให้นางเกาะมาจนกระทั่งชายหาด "เมืองเวรุจักร" นางจึงถอดแหวนเสี่ยงทายว่าหากโอรสและภัสดาตายแล้วก็ให้แหวนจม ปรากฏว่าแหวนลอยขึ้นนางจึงค่อยโล่งใจขึ้นบ้าง จึงฉีกชายผ้าสไบเขียนบอกเรื่องราวผูกไว้ที่พระไทรแล้วฝากกราบพระไทรให้ช่วยบอกทางหากสามีมาพบ นางพิกุลทองเดินซัดเซพเนจรไปในป่าจนเข้ามาในเขตเมืองเวรุจักร ซึ่งมี "พญายักษ์วิรุณจักร" ปกครองอยู่นางก็หลับอยู่ในศาลาหน้าเมือง ท้าววิรุณจักรมาพบเข้าก็เกี้ยวพาราสี นางพิกุลทองก็ว่าตนมีสามีและลูกแล้ว แต่พญายักษ์กลับไม่ฟังเสียงบังคับนางขึ้นรถพาเข้าไปในวัง ท้าววิรุณจักรก็เพียรพยายามเกี้ยวพาราสีนางพิกุลทอง แต่นางไม่ยอมซ้ำกลับต่อว่าเปรียบเปรยต่างๆ นานา ท้าววิรุณจักรโกรธมากจึงใช้พระขรรค์ฟันนาง แต่ด้วยสัจจบารมีที่นางซื่อสัตย์ต่อสามี ทำให้พระขรรค์หักเป็น 2 เสี่ยง เมื่อท้าววิรุณจักรไม่สามารถทำอันตรายแก่นางได้ จึงขับไล่ให้เป็นทาสรับใช้อยู่ในครัว
ฝ่าย 3 พ่อลูกครั้นเรือแตกแล้ว พระพิชัยมงกุฏจึงขว้างสังข์วิเศษไปสังหารนางยักษ์กานิลจนสิ้นชีพ แล้วเนรมิตขึ้นขี่สังข์ออกตามหานางพิกุลทอง จนพบชายผ้าสไบที่นางผูกไว้ พระไทรจึงปรากฏกายแล้วชี้ทางให้ไปทางทิศตะวันออก จึงพากันเดินไปตามทางพบอาศรมพระฤๅษี ก็ตรวจดวงชะตาว่าพระพิชัยมงกุฏนั้นจะได้ชายาอีก 1 คน ส่วนนางพิกุลทองนั้นพอครบ 1 เดือนจึงพ้นเคราะห์กรรม แล้วพระดาบสจึงสั่งสอนวิชาเหาะเหินเดินอากาศให้ พร้อมทั้งมอบแหวนเนาวรัตน์กายสิทธิ์และพระขรรค์แก้ว ให้กับพระพิชัยมงกุฏเพื่อนำไปต่อสู้กับยักษ์ ทั้ง 3 ก็กราบลาพระฤๅษี แล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองวิรุณจักร จึงพากันแปลงกายเป็นนกขุนทองบินเข้าไปในสวนขวัญเพื่อสืบเรื่องราว
จะกล่าวถึงท้าววิรุณจักรมีธิดาโสภาอันเกิดแต่นางมนุษย์อยู่องค์หนึ่งชื่อว่า "นางอรุณวดี" อยู่มาคืนหนึ่งกลับฝันเห็นพญานาค 7 เศียรเลื้อยเวียนรอบปราสาทแล้วเข้ารัดนาง ครั้นตื่นขึ้นจึงปรึกษานางยักษ์พี่เลี้ยง ก็ทำนายว่าสงสัยจะได้คู่ ทำเอานางร้อนรุ่มกล้มอุราจึงพากันไปลงเที่ยวชมสวนพบกับนกสาริกา 3 พ่อลูกคุยกันอยู่ จึงใช้ให้พวกยักษ์จับเข้าไปเลี้ยงในวัง ครั้นตกดึก พระพิชัยมงกุฏจึงแปลงกลับเป็นคนดังเดิม แล้วลอบเข้าหานางอรุณวดีจนได้นางเป็นชายา
ความแตกเมื่อนางกำนัลมาพบเข้าในตอนรุ่งเช้า จึงรีบไปทูลบอกแก่ท้าววิรุณจักร กริ้วโกรธดั่งไฟบรรลัยกัลป์ ตรัสสั่งให้โอรสองค์รองชื่อ "กุมภัณฑสูร" ไปจับ แต่ก็ถูก 2 กุมารฆ่าตาย ท้าววิรุณจักรก็ยิ่งแค้นว่าต้องมาแพ้เด็กเมื่อวานซืน ครั้นจะสู้เองพระมเหสีก็ห้ามว่าท่าทางศัตรูจะมีฤทธิ์มากควรมีหนังสือไปบอกให้สหายคือ "ท้าวกัมพลนาค" ที่เมืองบาดาลกับ "ท้าวหัศจักร" มาช่วยรบดีกว่า ครั้นทั้ง 2 มาถึง ท้าววิรุณจักรก็ให้แต่งทัพออกสู้รบกับพระพิชัยมงกุฏ แต่ก็ถูกพระขรรค์ฟันเสียเป็นแผลหลายแห่งก็แค้นใจ จึงกลับร่างพญานาค 7 เศียรใหญ่พ่นพิษหมายจะให้ตาย พระพิชัยมงกุฏจึงถอดแหวนเนาวรัตน์ที่พระดาบสให้มาขว้างออกไปเป็นพญาครุฑไล่จิกตีท้าวกัมพลนาคจนต้องซมซานหนีลงไปบาดาล ต่อมาท้าวหัสจักรออกรบก็ถูก 2 กุมารฆ่าตายด้วยพระขรรค์แก้ว ฝ่ายท้าววิรุณจักรก็ถูกพระพิชัยมงกุฏยิงด้วยศรวิเศษเสียบอกตายกลางสนามรบ พวกยักษ์ที่เหลือก็พากันครั่นคร้ามไม่กล้าต่อกรด้วย แล้วทูลเชิญให้ขึ้นครองเมือง พระพิชัยมงกุฏจึงให้จัดการถวายพระเพลิงท้าววิรุณจักรตามราชประเพณี
ฝ่ายนางพิกุลทองครั้นทราบว่าผู้ปราบท้าววิรุณจักรได้คือสวามีและพระโอรสก็ยินดี ครั้นเวลานำอาหารถวายนางก็รับอาสาเพราะยักษ์ทำอาหารมนุษย์ไม่เป็น แล้วใส่พิกุลทองลงไปในเครื่องเสวยด้วย 3 พ่อลูกเห็นดอกพิกุลทองก็จำได้จึงให้ไปเรียกคนครัวขึ้นมา เมื่อพบหน้ากันแล้วทั้ง 4 ก็ร้องไห้กันจนสลบ ครั้นฟื้นขึ้นแล้วจึงให้นางพิกุลทองไปทรงเครื่องอย่างนางกษัตริย์ แล้วเรียกนางอรุณวดีมาทำความรู้จัก ฝ่ายนางอรุณวดีนั้นถือตนว่าเป็นลูกเจ้าท้าวกษัตริย์บวกกับความหึงหวงจึงค่อนแคะนางพิกุลทองในทำนองว่า เป็นเมียน้อยบิดาตนมาแล้วกลายเป็นคนครัว คิดจะเป็นนางกษัตริย์เสมอตนมิรู้จักเจียมตัวบ้าง
ฝ่ายนางพิกุลทองครั้นได้ยินดังนี้ก็ให้เจ็บใจ จึงเล่าเรื่องราวให้ฟังแล้วขอพิสูจน์ด้วยการลุยไฟแสดงความบริสุทธิ์ พระอินทร์จึงเอาน้ำอมฤตมาพรมดับไฟ ส่วนนางอรุณวดีลุยไฟแล้วทนร้อนไม่ได้ จึงถูกพระพิชัยมงกุฏลงโทษและให้ขอโทษนางพิกุลทอง
จบเนื้อเรื่องตามสมุดไทยเพียงเท่านี้



ราชาธิราช

 วรรณคดีเรื่อง ราชาธิราช เป็นการทำสงครามระหว่างพม่ากับมอญ เดิมต้นฉบับเป็นภาษามอญ แต่เนื่องจากเนื้อเรื่องมีความสนุกน่าสนใจ ให้ข้อคิดมากมายจึงได้มีนักปราชญ์ชาวไทยแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย ตั้งแต่ก่อนเสียกรุงเสียอยุธยาครั้งสุดท้าย ภายหลังสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 1ทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลและเรียบเรียงให้เรียบร้อยเสร็จสมบูรณ์อีกครั้ง

                                      
เรื่องย่อ

ราชาธิราชเป็นวรรณคดีร้อยแก้วประเภทนิยายพงศาวดาร  เมื่อจ.ศ. 1147  (พ.ศ.2328)  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) พระยาอินทรอัคคราช พระภิรมรัศมี และพระศรีภูริปรีชา  แปลและเรียบเรียงเรื่องราวของพระเจ้าราชาธิราชซึ่งปรากฏอยู่ในพงศาวดารมอญให้เป็นภาษาไทย เนื้อหาเรื่องราชาธิราชแบ่งเป็น  3 ตอน  คือ  
ตอนที่ 1  พระเจ้าฟ้ารั่ว  
ตอนที่ 2  พระเจ้าราชาธิราช
และตอนที่ 3  พระเจ้าหงสาวดีมหาปิฎกธรา    
                                                                   
ตอนพระเจ้าฟ้ารั่ว เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการสร้างเมืองเมาะตะมะตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระมหากษัตริย์พุกามพระองค์หนึ่งชื่อพระเจ้าอลังคจอสูได้มาสร้างเมืองเมาะตะมะขึ้น ณ ป่าแห่งนั้นตามพุทธทำนาย  พระเจ้าอลังคจอสูทรงให้อลิมามางเป็นเจ้าเมือง ฝ่ายสมณเทวบุตรได้จุติลงมาเป็นชาวเกาะวาน แขวงเมืองเมาะตะมะ ชื่อว่ามะกะโท  เมื่ออายุได้ 15 ปี  มะกะโทได้คุมบริวารมาค้าขายที่เมืองสุโขทัย ระหว่างเดินทางเกิดนิมิตแก่มะกะโทว่าจะได้เป็นใหญ่ในภายหน้า มะกะโทจึงมาฝากตัวอยู่กับนายช้างเมืองสุโขทัย ต่อมาเมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงประจักษ์ถึงสติปัญญาของมะกะโทจึงทรงชุบเลี้ยงจนได้เป็นขุนวัง มะกะโทได้ลอบรักกับนางเทพสุดาสร้อยดาวพระราชธิดาของสมเด็จพระร่วงเจ้าแล้วเกรงความผิดจึงพาพระราชธิดาหนีกลับไปเมืองวาน ผู้คนเห็นว่ามะกะโทมีวาสนาบารมีจึงพากันมาสมัครเป็นพวกพ้อง มะกะโทคิดการจะเป็นใหญ่จึงยกน้องสาวคือนางอุ่นเรือนให้เป็นภรรยาของอลิมามาง ต่อมามะกะโทมีบริวารมากขึ้น อลิมามางเกิดระแวงจึงคิดอุบายฆ่า แต่มะกะโทซ้อนกลจนสามารถฆ่าอลิมามางได้ มะกะโทจึงได้เป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะและได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระร่วงเจ้าว่า “พระเจ้าฟ้ารั่ว” เป็นปฐมกษัตริย์แห่งเมืองเมาะตะมะ 
พระเจ้าฟ้ารั่วได้ครองราชย์และสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่เมืองเมาะตะมะ ภายหลังเมื่อสวรรคตแล้วมีกษัตริย์ครองราชย์สืบต่อมาอีกหลายพระองค์จนถึงสมัยของพระเจ้ารามไตย      
                                                                   
ตอนที่ 2 พระเจ้าราชาธิราช พระเจ้ารามไตยมีโอรสธิดา 3 พระองค์ พระราชธิดาองค์แรกสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ชนมายุยังน้อย พระราชธิดาองค์กลางทรงพระนามว่าวิหารเทวี แต่คนทั่วไปเรียกว่า พระมหาเทวี  โอรสองค์สุดท้องชื่อมุนะซึ่งต่อมาได้ครองราชย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าอู่หรือเรียกอีกพระนามว่า พระเจ้าช้างเผือก  พระเจ้าช้างเผือกมีโอรสธิดา 4 พระองค์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเรื่องราชาธิราช  คือ โอรสองค์แรกที่มีพระนามว่ามังสุระมณีจักร หรือพระยาน้อย  โอรสอีกพระองค์มีพระนามว่า พ่อขุนเมือง  ส่วนพระธิดา 2 พระองค์ของพระเจ้าช้างเผือกนั้นมีพระนามว่าตะละแม่ท้าวและตะละแม่ศรี  โอรสและธิดาของพระเจ้าช้างเผือกนั้นล้วนประสูติจากต่างมารดาทั้งสิ้น พระยาน้อยนั้นกำพร้ามารดา พระมหาเทวีจึงทรงเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กจนเจริญวัย  พระยาน้อยได้ลอบรักกับตะละแม่ท้าวน้องสาวต่างมารดา  จนมีโอรสชื่อพ่อลาวแก่นท้าว  ส่วนตะละแม่ศรีนั้นพระเจ้าช้างเผือกได้ให้อภิเษกกับสมิงมราหู เพื่อตอบแทนที่บิดาของสมิงมราหูอาสาศึกจนตัวตาย  
พระเจ้าช้างเผือกไม่โปรดพระยาน้อยและไม่ประสงค์จะให้ราชสมบัติ เพราะทรงเห็นว่า “มีใจฉกรรจ์  ไม่ศรัทธาในพระศาสนา” หวังจะให้พ่อขุนเมืองได้ครองราชสมบัติต่อ แต่ต่อมาพ่อขุนเมืองสิ้นพระชนม์ก่อน พระยาน้อยจึงเป็นโอรสที่จะต้องครองราชย์สืบต่อ
ต่อมาพระมหาเทวีได้ลอบเป็นชู้กับสมิงมราหูจึงคิดการจะฆ่าพระยาน้อยเพื่อให้สมิงมราหูได้ราชสมบัติ พระยาน้อยรู้ตัวจึงหนี ทิ้งตะละแม่ท้าวและพ่อลาวแก่นท้าวไว้ที่เมืองพะโค เมื่อมีผู้ทำนายว่าจะได้เป็นพระมหากษัตริย์ พระยาน้อยก็ซ่องสุมหาคนมีฝีมือเป็นพวก ได้พ่อมอญและมังกันจีเป็นคู่คิดและพากันไปตั้งตัวที่เมืองตะเกิง เมื่ออยู่ที่เมืองตะเกิงนั้นได้นางเม้ยมะนิกแม่ค้าแป้งน้ำมันเป็นชายา ต่อมาเมื่อพระเจ้าช้างเผือกเสด็จสวรรคต พระยาน้อยสู้รบกับพระมหาเทวีและสมิงมราหูได้ชัยชนะขึ้นครองราชย์ ทำพิธีราชาภิเษก ทรงพระนามว่าพระเจ้าสีหราชาธิราช  ทรงครองราชย์และเปลี่ยนชื่อเมืองพะโคเป็นเมืองหงสาวดี ทรงปูนบำเหน็จขุนทหารทั้งหลายเป็นอันมาก นายทหารคู่ใจคือพ่อมอญและมังกันจี ได้ปูนบำเหน็จเป็นสมิงพ่อเพชรและราชมนูตามลำดับ
เมื่อพระเจ้าราชาธิราชได้ครองราชสมบัติแล้วได้ทรงปราบเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่แข็งเมือง  ทรงได้นายทหารที่มีฝีมือมาเป็นพวกพ้องเป็นอันมาก มีทหารคนหนึ่งที่เข้ามาสวามิภักดิ์คือมะสะลุมซึ่งต่อมาได้ยศเป็นสมิงนครอินทร์ พระเจ้าราชาธิราชทรงปกครองบ้านเมืองได้อย่างสงบเรียบร้อย  จนถึงศักราช 753 จึงเกิดสงครามกับพม่าขึ้นในสมัยพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉวา
สงครามระหว่างมอญกับพม่าในสมัยพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉวานั้น เริ่มต้นด้วยพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉวาซึ่งครองราชสมบัติ ณ กรุงอังวะ ได้ทราบข่าวว่าพระเจ้าช้างเผือกสิ้นพระชนม์ พระเจ้าราชาธิราชได้ครองราชสมบัติต่อ  พระเจ้าฝรั่งมังศรีฉวาทรงคิดจะปราบปรามมอญเสียก่อนที่จะมีกำลังแข็งกล้าจึงทรงยกทัพมาตีมอญที่เมืองหงสาวดี  พระเจ้าราชาธิราชทรงยกทัพออกไปต้านศึกไว้ การสู้รบในครั้งนั้นทัพของพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉวาพ่ายแพ้ ฝ่ายมอญเมื่อเห็นว่าพม่าพ่ายแพ้ก็ส่งราชทูตไปเยาะเย้ยจนในที่สุดพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉวาตรอมพระทัยสวรรคตเมื่อพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉวาสวรรคต มังสุเหนียดพระโอรสได้ครองราชย์ต่อมาทรงพระนามเมื่อราชาภิเษกแล้วว่าพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องหรือเรียกอีกพระนามคือพระเจ้ามณเฑียรทอง  มังศรีธาตุพระราชอนุชาคิดชิงราชสมบัติแต่พ่ายแพ้แก่พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง จึงหนีไปสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าราชาธิราช ณ กรุงหงสาวดี   พระเจ้าราชาธิราชทรงเห็นเป็นโอกาสจึงยกทัพไปตีเมืองอังวะ พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องยังไม่พร้อมทำศึกจึงทรงให้พระสังฆราชภังคยะสะกะโรไปขอหย่าทัพ  พระเจ้าราชาธิราชจึงทรงยกทัพกลับเมืองหงสาวดี
ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องเมื่อพระเจ้าราชาธิราชทรงยกทัพกลับไปแล้วทรงคิดการทำสงครามตอบแทน โดยปราบหัวเมืองที่เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินให้ราบคาบก่อน แล้วจึงส่งสารขอให้เมืองเชียงใหม่ยกมาช่วยตีกระหนาบในการทำสงครามกับมอญ แต่ทหารฝ่ายมอญจับคนเดินสารได้  ทางเมืองเชียงใหม่ไม่ได้สารจากพม่าจึงไม่ได้ยกทัพมาตามแผนของพม่า ฝ่ายเจ้าเมืองที่ถูกพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องปราบปรามได้เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าราชาธิราช  พระเจ้าราชาธิราชจึงทรงถือโอกาสนั้นยกทัพไปตีหัวเมืองเหล่านั้นคืน อีกทั้งจับตัวมังกำมุนีและตะละเจ้าเปฟ้า พระราชบุตรเขยและพระราชธิดาของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องซึ่งอยู่รักษาเมืองตะแคงไป  พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องทรงรอไม่เห็นเมืองเชียงใหม่ยกทัพมาช่วยการศึกก็ทรงจัดทัพให้เหล่าทหารลงมาตีเมืองหงสาวดี  ฝ่ายมอญมีกำลังน้อยกว่าแต่ก็ได้ยกทัพออกมาสู้รบเป็นสามารถจนทัพพม่าแตกพ่ายไป 
ปีต่อมาพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องทรงยกทัพมาตีกรุงหงสาวดีอีกครั้ง ครั้งนี้ นางมังคละเทวีพระอัครมเหสีได้ตามเสด็จด้วย พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องแพ้ต้องล่าทัพกลับไป ขณะเดินทางกลับช้างทรงของนางมังคละเทวีเตลิดเข้าป่าไป นางมังคละเทวีได้ทหารชื่อฉางกายช่วยไว้ พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องทรงระแวงว่าฉางกายเป็นชู้กับนางมังคละเทวีจึงทรงสั่งประหารชีวิตฉางกาย
พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องทรงยกทัพมาตีกรุงหงสาวดีหลายครั้ง แต่ไม่ว่ายกทัพมาตีโดยตรงหรือใช้วิธีตีหัวเมืองรายทางก็ไม่สามารถเอาชนะฝ่ายมอญได้ สุดท้ายจึงทรงเจรจาหย่าศึก สงครามระหว่างมอญและพม่าจึงสงบลงเป็นเวลาหลายปี
สงครามระหว่างมอญกับพม่าเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อโอรสของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องคือมังรายกะยอฉวาซึ่งเกลียดชังมอญได้ก่อเหตุสงครามขึ้น มังรายกะยอฉวานั้นในชาติก่อนคือพ่อลาวแก่นท้าวโอรสของพระเจ้าราชาธิราชอันประสูติจากตะละแม่ท้าว พ่อลาวแก่นท้าวถูกประหารชีวิตเนื่องจากพระเจ้าราชาธิราชทรงเห็นว่ากระด้างกระเดื่อง พ่อลาวแก่นท้าวถือพยาบาทจึงอธิษฐานขอเกิดใหม่เป็นโอรสของพระเจ้ากรุงอังวะเพื่อจะมาทำสงครามกับมอญ  เมื่อถือกำเนิดใหม่ได้ชื่อว่ามังรายกะยอฉวา  มังรายกะยอฉวาถือเหตุที่ประชาชนมอญและพม่าที่อาศัยตามชายแดนได้วิวาทแย่งชิงน้ำมันดินกันก่อสงครามใหญ่ ในการสงครามมังรายกะยอฉวาไม่อาจเอาชนะมอญ แต่ก็สามารถจับตัวสมิงนครอินทร์  สมิงพระรามและช้างพลายประกายมาศได้  แต่ภายหลังมังรายกะยอฉวาก็ถูกฝ่ายมอญจับและถูกทำพิธีปฐมกรรม  หลังจากนั้นสงครามมอญพม่าก็ซาลง
ต่อมา จ.ศ. 785 พระเจ้ากรุงต้าฉิง เจ้าเมืองจีนได้ยกกองทัพมาทำสงครามกับพม่า โดยท้าให้พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องส่งนายทหารออกไปประลองฝีมือกับกามะนีนายทหารเอกของพระเจ้ากรุงต้าฉิง สมิงพระรามซึ่งถูกจองจำอยู่ในคุกจึงอาสาศึก สมิงพระรามสามารถสังหารกามะนีในสนามประลอง    พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจึงพระราชทานพระธิดาแก่สมิงพระรามและทรงแต่งตั้งสมิงพระรามเป็นอุปราช แต่ท้ายที่สุดสมิงพระรามก็หนีกลับไปยังกรุงหงสาวดี สงครามมอญพม่าในยุคพระเจ้าราชาธิราชกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ยุติลง ตราบจนพระเจ้าราชาธิราชและพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องเสด็จสวรรคต
ตอนสุดท้ายเริ่มต้นในสมัยของพระเจ้าแมงแรฉะวากีกษัตริย์พม่าและตะละนางพระยาท้าวกษัตริย์มอญ  พระเจ้าแมงแรฉวากีได้ให้ทหารยกทัพมาซุ่มจับตะละนางพระยาท้าวเมื่อคราวเสด็จไปนมัสการพระเกศธาตุ ณ เมืองตะเกิง  แล้วทรงตั้งตะละนางพระยาไว้ที่พระอัครมเหสี ขนานพระนามว่าแสจาโป   ต่อมาพระนางแสจาโปหนีกลับกรุงหงสาวดีได้ด้วยความช่วยเหลือของสามเณรปิฎกธร เมื่อกลับถึงกรุงหงสาวดีพระนางจึงทรงมอบราชสมบัติแก่พระปิฎกธร พระเจ้าหงสาวดีมหาปิฎกธรทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถมากทรงได้รับการสรรเสริญจากพระมหากษัตริย์แว่นแคว้นต่างๆ เพราะกษัตริย์พระองค์ใดมาทดสอบพระสติปัญญาก็ทรงชนะได้ด้วยปัญญาเสมอ จึงทรงได้รับพระนามต่าง ๆ ว่า ปัญญาราชบ้าง  พระมหาราชาธิบดีบ้าง  พระราชาธิบดีบ้าง  ในสมัยที่พระเจ้าหงสาวดีมหาปิฎกธรทรงครองราชย์นี้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขตราบนั้นมา


ที่มา  www.sac.or.th/databases/thailitdir/detail.php?meta_id=199

สังข์ศิลป์ชัย

สืบสานตำนานวรรณคดี วันนี้ขอเสนอเรื่อง...............สังข์ศิลป์ชัย


                                    

เรื่องย่อ

ที่นครปัญจาล ท้าวกุศราช เป็นเจ้าเมือง มีน้องสาวรูปงามชื่อนางเกสรสุมณฑา วันหนึ่งนางไปชมสวน มียักษ์กุมภัณฑ์มาอุ้มเอานางไปยังเมืองอโนราช แล้วแต่งตั้งเป็นมเหสี ท้าวกุศราชเสียใจมาก จึงออกบวชติดตามไปถึงเมืองไชยะนคร และได้พบธิดาทั้ง 7 ของนันทะเศรษฐี จึงสึกและขอนางเป็นมเหสี ท้าวกุศราชเรียกมเหสีทั้ง 7 มา ให้ทุกนางตั้งจิตอธิษฐานขอเอาลูกชายผู้มีบุญฤทธิ์มาเกิด เพื่อจะได้ติดตามเอานางเกสรสุมณฑากลับคืนมา พระอินทร์ได้ส่งเทพ 2 องค์มาเกิดในท้องนางทั้งสอง องค์หนึ่งเกิดเป็นราชสีห์ ท้าวกุศราชจึงพระราชทานนามให้ว่า สิงหรา เกิดในท้องเมียหลวง องค์สองสังข์ศิลป์ชัย มีสังข์ทอง ศรศิลป์กายสิทธิ์ และพระขรรค์ชัยศรี เป็นอาวุธติดกายมาตั้งแต่เกิด ท้าวกุศราชจึงพระราชทานนามให้ว่า สังข์ศิลป์ชัย เมียห้าคนได้คนสามัญมาเกิด โหรหลวงได้ทำนายว่าลูกที่เกิดจากเมียน้อยและเมียหลวงจะเป็นผู้มีบุญ คำทำนายของโหร ไม่เป็นที่พอใจของมเหสีทั้งห้า มเหสีทั้งห้าจึงว่าจ้างให้โหรทำนายใหม่ โหรเห็นแก่สินบนจึงทำนายใหม่ว่าลูกที่เกิดจากมเหสีทั้ง 5 มีฤทธิ์เดชมาก ลูกที่เกิดจากนางจันทาและนางประไพ เป็นทั้งคนทั้งสัตว์ เกิดมาอาภัพอัปปรีย์และจัญไร เมื่อประสูติ ท้าวกุศราชจึงขับไล่นางจันทา นางประไพ  พร้อมพระโอรสออกจากเมือง พระอินทร์เล็งเห็นความทุกข์ยาก จึงมาเนรมิตเมืองไว้ต้อนรับให้ได้อยู่อาศัย ยังเมืองนครปราการบรรพตแห่งนี้ ท้วกุศราชเมื่อขับไล่เมียแล้วให้โอรสทั้งห้าไปตามเอาน้องสาวของตนคืนจากยักษ์กุมภัณฑ์ โอรสทั้งห้าหลงทางมายังเมืองนครปราการบรรพต และได้โกหกสังข์ศิลป์ชัย ให้ส่งสัตว์ป่าเข้าเมืองด้วยเพื่อเป็นพยานว่าพวกของตนได้พบกับสังข์ศิลป์ชัยแล้ว เมื่อถึงเมืองโอรสทั้งห้าก็โอ้อวดกับบิดาว่า พวกเขามีอำนาจเรียกสัตว์ทุกชนิดเข้าเมืองได้ ทุกคนก็หลงเชื่อว่าโอรสทั้งห้ามีอำนาจ เมื่อบิดาสั่งให้โอรสทั้งห้าติดตามหาอา พวกเขาก็มาโกหกสังข์ศิลป์ชัยว่าบิดาสั่งให้สังข์ศิลป์ชัยไปตามหาอา ถ้าได้อาคืน ความผิดที่แล้วมาพ่อจะยกโทษให้สังข์ศิลป์ชัย ไปถึงด่านงูซวง กุมารทั้งห้าไม่กล้าเดินทางต่อไป ให้สังข์ศิลป์ชัยเดินทางต่อไปรบกับยักษ์ฆ่ายักษ์ตาย เอาอาคืนมาได้ เมื่อถึงแม่น้ำใหญ่ กุมารทั้งห้าผลักสังข์ศิลป์ชัยตกเหว และบอกอาว่าสังข์ศิลป์ชัยตกน้ำตาย อาไม่เชื่อจึงเอาผ้าสะใบ ปิ่นเกล้าและช้องผมเสี่ยงทายไว้ เมื่อกลับมาถึงเมือง ท้าวกุศราชได้จัดงานต้อนรับ และทราบความจริงว่ากุมารทั้งห้าเป็นคนโกหกมาโดยตลอดจึงถูกลงโทษขังคุกพร้อมมารดาของตน ท้าวกุศราชพร้อมน้องสาวเชิญเอานางจันทาและนางประไพ พร้อมสังข์ศิลป์ชัย และ สิงหราเข้ามาในเมือง อภิเษกสังข์ศิลป์ชัยให้เป็นเจ้าเมืองปัญจาล ต่อมาสังข์ศิลป์ชัยได้ปล่อยให้คนทั้งหมดออกจากคุก ปกครองบ้านเมืองเป็นสุขสืบมา ส่วนยักษ์กุมภัณฑ์นั้น พระยาเวสสุวัณได้ชุบชีวิตคืนชีพขึ้นมา คิดถึงนางเกสรสุมณฑาผู้เป็นมเหสี จึงไปสู่ขอนางจากสังข์ศิลป์ชัย และทั้งสองอยู่เป็นสุขตราบสิ้นอายุ


ที่มา  https://th.wikipedia.org/wiki/สังข์ศิลป์ชัย

รามเกียรติ์

 เชื่อว่าแทบทุกคนคงได้เรียนวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์มาในวิชาภาษาไทยทั้งในระดับประถมและมัธยมกันมาดีอยู่แล้ว หรืออาจจะรู้จักแค่ผิวเผิน จำรายละเอียดเนื้อเรื่องได้ลางๆ เพราะมีทั้งบทร้อยแก้ว และร้อยกรอง แต่สิ่งที่ทุกคนจำได้แม่นคือ เนื้อเรื่อง ฉากที่น่าประทับใจ หรือตัวละครหลักที่บทดี สื่ออารมณ์ ลักษณะนิสัยตัวละครได้อย่างดี

                               


แนะนำตัวละคร






   เนื้อเรื่องโดยย่อ
        ท้าวทศรถ เป็นกษัตริย์ครองกรุงอยุธยา มีพระมเหสี ๓ องค์ คือ นางเกาสุริยา นางไกยเกษี และนางสมุทรเทวี วันหนึ่งท้าวทศรถไปรบกับยักษ์ชื่อ ปทูตทันต์ โดยนางไกยเกษีตามเสด็จไปด้วย ขณะรบกันยักษ์แผลงศรไปถูกเพลารถของท้าวทศรถหัก นางไกยเกษีรีบกระโดดลงจากรถ เอาแขนของนางสอดแทนเพลารถ เมื่อท้าวทศรถฆ่ายักษ์ได้แล้ว ได้ทรงทราบถึงความจงรักภักดีของนางไกยเกษี จึงประทานพรว่าหากนางปรารถนาสิ่งใด พระองค์ก็จะประทานให้

ท้าวทศรถครองราชย์สมบัติมานานลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีโอรสจึงทำพิธีกวนข้าวทิพย์ กลิ่นข้าวทิพย์หอมไปถึง กรุงลงกา ทศกัณฐ์จึงใช้ให้ นางยักษ์กากนาสูรมาขโมย นางแปลงร่างมาเป็นอีกา โฉบเอาข่าวทิพย์ไปได้เพียงครึ่งก้อน ทศกัณฐ์นำข้าวทิพย์ให้นางมณโฑ ผู้เป็นมเหสีกิน นางจึงตั้งครรภ์และประสูติพระธิดาออกมา แต่ขณะที่ประสูตินั้นพระธิดาร้องว่า ผลาญราพณ์” ขึ้น ๓ ครั้ง พิเภกและโหรอื่นๆ ทำนายว่ากาลีบ้านกาลีเมือง ทศกัณฐ์จึงสั่งให้นำพระธิดาผู้นั้นใส่ในผอบ ลอยน้ำไป พระฤๅษีชนกซึ่งเดิมเป็นราชาแห่งเมืองมิถิลามาพบเข้า ก็เก็บไปฝั่งดินฝากแม่ธรณีไว้จนเวลาล่างไปถึง ๑๖ ปี จึงไปขุดนางขึ้นมา แล้วจึงตั้งชื่อว่า สีดา แล้วกลับไปครองเมืองเมืองมิถิลาเช่นเดิม และได้จัดพิธียกศรเพื่อหาคู่ครองให้นางสีดา พระรามยกศรได้ จึงได้อภิเษกกับนางสีดา และพานางกลับไปอยู่ที่กรุงอยุธยา
ส่วนข้าวทิพย์ที่เหลือสามก้อนครึ่ง ท้าวทศรถแบ่งให้พระมเหสีทั้งสาม ซึ่งต่อมานางตั้งครรภ์ และให้กำเนิดโอรส คือ นางเกาสุริยา ประสูติพระราม นางไกยเกษี ประสูติพระพรต และนางสมุทรเทวี ประสูติพระลักษณ์ กับพระสัตรุด ต่อมา ท้าวทศรถคิดจะยกราชสมบัติให้พระรามปกครอง แต่นางไกยเกษีทูลขอเมืองอยุธยาให้พระพรตโอรสของตน และขอให้พระรามออกเดินป่าเป็นเวลา ๑๔ ปี ท้าวทศรถเคยประทานพรให้นางไว้จึงจำต้องรักษาวาจาสัตย์พระรามก็ยินยอมออกจากเมืองโดยดี ซึ่งพระลักษณ์กับนางสีดาขอเสด็จตามไปด้วย ท้าวทศรถเสียพระทัยมากจนกระทั่งสิ้นพระชนม์
พระราม พระลักษณ์ และนางสีดา ไปตั้งอาศรมอยู่ในป่า วันหนึ่งนางสำมนักขา น้องสาวของทศกัณฐ์ออกไปเที่ยวป่า ได้พบพระรามเข้า เห็นพระรามมีรูปโฉมงดงามก็หลงรัก เข้าไปเกี้ยวพาราสีพระราม และทำร้ายนางสีดา พระลักษณ์โกรธมาก จับนางมา ตัดหู ตัดจมูก ตัดมือ และเท้า แล้วปล่อยตัวไป นางกลับไปฟ้องพี่ชายทั้งสาม คือ ทูษณ์ ขร และตรีเศียร ให้ไปรบกับพระราม แต่ก็ถูกพระรามฆ่าตาย นางจึงไปเล่าถึงความงดงามของนางสีดาให้ทศกัณฐ์ฟัง ทศกัณฐ์อยากได้นางมาเป็นชายา จึงออกอุบายให้มารีศแปลงตัวเป็นกวางทองมาล่อ นางสีดาเห็นกวางทองเข้าก็อยากได้ ขอให้พระรามไปจับไม่ได้ พอมารีศถูกศรของพระรามก็แกล้งทำเสียงพระรามร้องให้ช่วย นางสีดาจึงขอให้พระลักษณ์ตามไป ทศกัณฐ์ได้ราม พระโอกาสจึงเข้ามาลักพานางสีดาไปกรุงลงกา พระราม พระลักษณ์ เสด็จออกติดตามหานางด้วยความห่วงใย จนได้พบกับหนุมานและสุครีพ สุครีพ ขอให้พระรามฆ่าพาลีผู้เป็นพี่ชายของตนเสียก่อน ตนจึงจะช่วยทำสงครามกับทศกัณฐ์ เนื่องจากสุครีพแค้นใจที่ครั้งหนึ่ง พระอินทร์ฝากผอบใส่นางดารามากับพาลี เพื่อเป็นรางวัลให้กับสุครีพที่ยกเขาพระสุเมรุให้ตั้งตรงได้ แต่ถูกพาลีริบไปเป็นของตน และครั้งสุดท้ายพาลีเข้าไปสู้รบกับความ ชื่อ ทรพี ในถ้ำ แล้วส่งสุครีพให้คอยดูอยู่ปากถ้ำ ถ้าเลือดที่ไหลออกมาข้นเป็นเลือดควาย ถ้าเลือดใสเป็นของตน ให้สุครีพปิดปากถ้ำเสีย สุครีพเฝ้าดูอยู่เห็นเลือดที่ไหลออกมาใส เพราะน้ำฝนชะจึงคิดว่าพาลีตาย จึงเอาหินปิดปากถ้ำ พาลีเข้าใจว่าสุครีพคิดฆ่าตน จึงขับไล่สุครีพออกจากเมือง พระรามจึงได้แผลงศรไปฆ่าพาลีตาย สุครีพจึงเกณฑ์ไพร่พลลิงมาช่วยพระรามรบ
คืนหนึ่งทศกัณฐ์ฝันร้าย พิเภกทำนายว่า ทศกัณฐ์ถึงคราวเคราะห์ให้ส่งนางสีดาคืนไปเสีย ทศกัณฐ์โกรธมาก ขับไล่พิเภกออกนอกเมือง พิเภกจึงเข้าไปสวามิภักดิ์กับพระราม ช่วยให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการทำสงครามแก่พระรามอยู่เสมอ
พระรามทำสงครามกับทศกัณฐ์อยู่นานหลายปี จนญาติพี่น้องของทศกัณฐ์ตามในสงครามกันหมด ทศกัณฐ์ต้องออกรบเอง พระรามแผลงศรถูกหลายครั้ง แต่ทศกัณฐ์ก็ไม่ตาย เพราะถอดดวงใจฝากฤๅษีโคบุตรไว้ หนุมานกับองคตจึงทูลรับอาสาพระรามไปหลอกเอากล่องดวงใจมาจนได้ ทศกัณฐ์ออกรบอีก พอพระรามแผลงศรไปปักอกทศกัณฐ์ หนุมานก็ขยี้กล่องดวงใจจนแหลกลาญ ทศกัณฐ์จึงสิ้นชีวิต จากนั้นพิเภกก็พานางสีดามาคืนให้พระราม และเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ นางสีดาจึงขอทำพิธีลุยไฟ ซึ่งนางสามารถเดินลุยไฟได้อย่างปลอดภัย พระรามตั้งให้พิเภกครองกรุงลงกา แล้วพระรามก็เสด็จกลับอยุธยาพร้อมด้วยนางสีดา และพระลักษณ์
ต่อมาปิศาจยักษ์ตนหนึ่งชื่อ นางอดูล ได้แปลงร่างเป็นสาวใช้ของนางสีดา ขอร้องให้นางสีดาวาดรูปทศกัณฐ์ให้ดู พอดีพระรามเสด็จมา นางสีดาตกใจพยายามลบเท่าไรก็ลบไม่ออก จึงรีบซ่อนไว้ใต้ที่บรรทม ทำให้พระรามบรรทมไม่หลับ ต้องสั่งให้พระลักษมณ์มาค้นดู ก็ได้รูปของทศกัณฐ์ พระรามกริ้วมาก หาว่านางสีดามีใจรักทศกัณฐ์ สั่งให้พระลักษมณ์นำนาง ไปประหาร แต่พระลักษมณ์ปล่อยนางไป นางสีดาไปอาศัยอยู่กับฤๅษีตนหนึ่ง จนประสูติโอรสองค์หนึ่ง คือ พระมงกุฎ
วันหนึ่ง นางสีดาไปอาบน้ำที่ลำธาร เห็นลิงเอาลูกเกาะหน้าเกาะหลัง พาไปไหนมาไหนด้วย นางจึงกลับไปอุ้มโอรสที่ฝากพระฤๅษีเลี้ยงไว้มาด้วย เมื่อพระฤๅษีลืมตาขึ้นมาจากการบำเพ็ญตบะ ไม่เห็นพระมงกุฎ จึงชุบกุมารขึ้นอีกองค์หนึ่งชื่อว่า พระลบ นางสีดาจึงมีโอรสสององค์ พระฤๅษีได้สั่งสอนศิลปวิทยาให้กุมารทั้งสองจนเก่งกล้า
พระรามได้ทำพิธีปล่อยม้าอุปการ ม้าผ่านเข้าไปในป่า พระมงกุฎเห็นเข้าก็จับมาขี่เล่น พระพรตแผลงศรไปจับตัว พระมงกุฎได้ พระรามสั่งให้นำตัวไปประจานเจ็ดวัน แล้วให้ประหารเสีย แต่พระลบมาช่วยไปได้ พระรามออกรบด้วยตนเองแต่ไม่สามารถเอาชนะกันได้ จนกระทั่งรู้ว่าเป็นพ่อลูกกัน พระรามไปอ้อนวอนนางสีดาให้กลับอยุธยา แต่นางสีดาไม่ยอม พระรามจึงทำอุบายว่าสิ้นพระชนม์ นางสีดาตกใจรีบกลับมาเยี่ยมพระศพ พระรามจึงออกมาจากโกศจับนางสีดาไว้ นางสีดา รู้ว่าถูกหลอก จึงอธิษฐานแทรกแผ่นดินหนีไปอยู่เมืองบาดาล พิเภกแนะนำพระรามออกเดินป่าอีกครั้งเพื่อเสดาะเคราะห์ พระรามจึงเสด็จไปพร้อมพระลักษมณ์ ได้ฆ่ายักษ์ตายอีกหลายตน ครั้งสุดท้ายพระรามได้สู้กับท้าวอุณาราช พระรามถอนต้นกกมาพาดสาย ยิงไปตรึงท้าวอุณาราชไว้กับแผ่นดิน แล้วจึงเสด็จกลับเข้ากรุงอยุธยา พระอิศวรสงสารพระรามจึงช่วยไกล่เกลี่ยให้นางสีดายอมคืนดีกับพระราม จากนั้นพระรามกับนางสีดาก็กลับมาครองกรุงอยุธยาอย่างมีความสุข

ที่มา   https://www.dek-d.com/board/view/1490262/

สิงหไกรภพ


เรื่องสิงหไกรภพ เป็นนิทานคำกลอนที่มีเค้าโครงเรื่องสนุกสนาน การผูกเรื่องชวนให้อ่านติดตาม ประกอบกับมีสำนวนโวหารที่จับใจผู้อ่านอยู่หลายตอน และเนื้อหาของเรื่องให้สาระอันเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้อ่าน จึงทำให้วรรณคดีเรื่องสิงหไกรภพเป็นที่ชื่นชอบและติดตรึงใจคนไทยมาช้านาน
             
เรื่องย่อ

 กาลครั้งหนึ่งในอดีตกาลนานมาแล้ว ณ นครโกญจา “พระเจ้าอินณุมาศ” และ “พระนางจันทร์แก้ว” ซึ่งเป็นพระราชาและพระราชินีได้ปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรมอย่างร่มเย็นเป็นสุข แต่ทั้งสองพระองค์กลับไม่มีโอรสและธิดาเลย ปรารถนาใคร่จะได้บุตรไว้สืบสันตติวงศ์ แต่หลายปีผ่านไปก็ยังไม่สมปรารถนา
        จนกระทั่งวันหนึ่ง “แม่ทัพอำนาจ” ยกทัพไปปราบ “โจรสลัดหิมวัฒน์”และพรรคพวกได้แล้ว จึงพาตัวลูกชายของจอมโจรวัย ๕ ขวบ มาถวายพระเจ้าอินณุมาศและพระนางจันทร์แก้ว เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงทอดพระเนตร ก็รู้สึกเอ็นดูรักใคร่ ปรารถนาจะได้เด็กนั้นเป็นบุตรบุญธรรม แม้แม่ทัพอำนาจ กับ “อำมาตย์กุศล”ต่างก็ได้ทูลทัดทานว่าจะเป็นการเลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้ ซึ่งอาจเกิดเภทภัยในวันข้างหน้าได้ แต่ทั้งสองพระองค์ก็ไม่ทรงสนพระทัย ด้วยความรักความหลงในเด็กน้อยนั่นบังตาเสียสิ้น พระเจ้าอินณุมาศได้ตั้งชื่อเด็กน้อยนั้นว่า “คงคาปราลัย” โดยคงคาปราลัยเติบโตขึ้นมาพร้อมกับนิสัยที่ดุร้ายไม่ผิดกับผู้เป็นพ่อ ยิ่งได้ “อำมาตย์กระแจะ” กับ “อำมาตย์กระจาน” คอยยุยงส่งเสริมหวังประจบเพื่อความดีความชอบแล้ว ก็ยิ่งทำให้คงคาปราลัยกระทำการชั่วช้าสามานย์มากยิ่งขึ้น แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าพระราชาและพระราชินีก็จะประจบประแจงเอาอกเอาใจ จนพระราชาและพระมเหสีต่างก็หลงใหล ไม่ทรงล่วงรู้ถึงพฤติกรรมที่แท้จริงของคงคาปราลัยเลย         ต่อมาพระนางจันทร์แก้วทรงสุบินประหลาดว่า ...พระนางได้ดวงอาทิตย์มาแล้วกลับถูกแย่งชิงไป โดยผู้วิเศษ... ...โหรทำนายว่าจะได้พระโอรสไว้สืบสกุลและจะเป็นพระโอรสที่ยิ่งใหญ่ประเสริฐและเกรียงไกรดุจดังพระอาทิตย์ แต่เมื่อยังเล็กจะถูกพรากจากกันไป แต่เมื่อเติบใหญ่จึงจะได้พบกันอีกครั้ง... ทำให้คงคาปราลัยเกิดความอิจฉายิ่งนัก จึงสมคบคิดกับอำมาตย์ฝ่ายของตน ก่อการกบฏแย่งชิงราชบัลลังก์จากพระเจ้าอินณุมาศพระบิดาเลี้ยงของตนเอง พระเจ้าอินณุมาศกับพระนางจันทร์แก้วต้องหลบหนีภัยออกจากพระนครไป แล้วไปหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า เมื่อพรานสิงห์มาพบเข้าก็สงสารจึงพามาอยู่ในหมู่บ้านด้วยกัน โดยให้ช่วยทำไร่ทำนาทดแทนบุญคุณฝ่ายอำมาตย์กุศล และ “หมื่นระบิล” จำใจต้องยอมสยบต่อคงคาปราลัยไปก่อน เพื่อคอยหาจังหวะช่วงชิงอำนาจ และราชสมบัติกลับคืนมาในภายหลัง คงคาปราลัยเมื่อได้ขึ้นเป็นพระราชาก็ก่อการปล้นฆ่าชาวบ้านด้วยความคึกคะนองหยาบช้าของตน เมื่อชอบใจหญิงสาวสวยคนใหน ไม่ว่าจะเป็นลูกเต้าเมียใครที่ถูกใจ ก็จะให้ทหารไปนำตัวมาบำเรอกามของตนเองให้ได้ จนทำให้บ้านเมืองเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า แล้วในที่สุดอำมาตย์กุศลกับพรรคพวก และชาวเมืองก็หาทางกำจัดคงคาปราลัยได้สำเร็จในที่สุด         แล้วจึงพากันออกตามหาพระราชาอินณุมาศและพระมเหสีให้กลับมาครองบัลลังก์เหมือนเดิม ซึ่งพระนางจันทร์แก้วได้คลอดลูกออกมาเป็นชายสมดั่งที่โหรทำนายไว้ไม่มีผิด ก็ปลาบปลื้มโสมนัสยินดีปรีดาเป็นยิ่งนัก เฝ้าถนอมเลี้ยงดูเป็นอย่างดี แต่ก็ยังถูกชาวบ้านบางคนไม่พอใจ คอยหาทางกลั่นแกล้งให้ออกไปทำงานหนักในไร่ในนาทั้งๆที่ลูกน้อยยังอ่อนวัยอยู่ จึงต้องทิ้งลูกเอาไว้กับเด็กชาวบ้านตามลำพัง
        ที่หมู่บ้านพราหมณ์แห่งหนึ่ง “พราหมณ์จินดา”วัย ๑๒ ขวบได้รับคำสั่งจากพราหมณ์ผู้บิดา คือ "พราหมณ์วิรุญฉาย"ให้ไปสืบหาเด็กที่มีบุญบารมีแล้วนำมาเลี้ยงดู ซึ่งตอนนี้ได้ถือกำเนิดแล้ว ก็จะทำให้พราหมณ์จินดาเจริญรุ่งเรืองได้เป็นใหญ่เป็นโตต่อไปในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน  พราหมณ์จินดาจึงออกตามหาเด็กที่ว่านั้น จนกระทั่งมาพบกับลูกของพระนางจันทร์แก้ว เห็นว่ามีคุณลักษณ์ต้องตามที่บิดาบอกไว้ทุกประการ จึงตัดสินใจลักพาตัวกุมารน้อยไป         เมื่อพระนางจันทร์แก้วกลับมาก็ไม่พบลูก จึงออกตามหากันทั้งหมู่บ้านแต่ก็ไม่พบแม้นแต่เงา พระนางจันทร์แก้วทรงทุกข์โทมนัสจนพระทัยแทบจะขาดที่ลูกถูกพรากไปเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็ไม่รู้  แต่เมื่อนึกถึงคำทำนายของโหรที่ว่าลูกจะถูกพรากไปในตอนเด็ก แล้วจะได้กลับมาพบกันในที่สุด พระนางจึงหักห้ามความเสียใจได้บ้าง เมื่ออำมาตย์กุศลตามมาพบพระเจ้าอินณุมาศและพระมเหสีจันทร์แก้วแล้ว จึงทูลเชิญเสด็จกลับไปครองเมืองโกญจาอีกครั้ง
         ฝ่ายพราหมณ์จินดาพากุมารน้อยระหกระเหินมาถึงกลางป่า จนกระทั่งมาพบกับ “ยักษ์พินทุมาร” เมื่อยักษ์พินทุมารเห็นเด็กทั้งสองก็เกิดความรัก จึงนำมาเลี้ยงเพราะตัวเองไม่มีลูก แล้วจึงให้ “นางยักษ์ไกรสร” ที่มีชาติกำเนิดเป็นนางสิงห์(สิงโต)ให้ช่วยเลี้ยงดูให้นมแบบมารดามนุษย์ เพราะนางไกรสรกำลังมีลูกอ่อนเพศเมียชื่อ“อัปสร” พอดีเลยเป็นเพื่อนเล่นกัน ทารกน้อยจึงมีพละกำลังมากมายเพราะกินนมนางสิงห์ และยักษ์พินทุมารได้ตั้งชื่อให้ว่า “สิงหไตรภพ” แปลว่าสิงห์ผู้ยิ่งใหญ่ไปทั้งไตรภพ(๓ ภพเลยทีเดียว) แล้ววันเวลาก็ผ่านไป ๕ ปี กุมารน้อย ได้เติบโตขึ้นมาด้วยความรักใคร่เอ็นดูของยักษ์พินทุมาร แต่นางไกรสรนั้นคอยหาทางที่จะกินสิงหไกรภพอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผิดใจกับอัปสรลูกสาวที่เป็นเพื่อนเล่นที่สนิทกับสิงหไกรภพนั้นเอง         ต่อมาสิงหไกรภพชวนพราหมณ์จินดาไปเที่ยวเล่นในบริเวณที่หวงห้าม จึงได้พบต้นไม้วิเศษที่ใบของมันกินแล้วจะกลายเป็น นาค นกแก้ว และลิงก็ได้ เด็กน้อยจึงลองกินดู แล้วกลายร่างเป็นนาค ยักษ์พินทุมารกลับมาเห็นเข้า จึงนำน้ำจากแอ่งผาในซอกหินมาลูบตัวเด็กน้อยทั้งสอง จนกลับมาเป็นคนตามเดิมแล้วสั่งห้ามเข้ามาซุกซนในบริเวณนี้กันอีก พราหมณ์จินดาตัดสินใจเล่าให้สิงหไกรภพฟังว่า พินทุมารมิใช่พ่อแท้ๆ แต่เป็นยักษ์ที่บังคับให้พราหมณ์จินดากับสิงหไกรภพมาเป็นลูก ซึ่งสิงหไกรภพอยากพบหน้าพ่อแม่ที่แท้จริงบ้าง จึงชวนกันหาทางหนียักษ์พินทุมาร ระหว่างนั้นมีวิทยาธรชื่อ “เพชรพญาทร” แอบมาลัก “พระขรรค์ประกายฟ้า” ที่ พินทุมารตั้งใจจะให้สิงหไกรภพต่อไป ยักษ์พินทุมารจึงออกตามล่าเอาพระขรรค์คืน สิงหไกรภพจึงชวนพราหมณ์จินดาไปเด็ดใบไม้วิเศษ จึงได้พบกับ “น้าผี”ที่ทำหน้าที่เฝ้าต้นไม้นั้น น้าผีรักเอ็นดูเด็กทั้งสอง จึงสั่งว่าหากเดือดร้อนก็ให้นึกถึงตน แล้วน้าผีจะมาช่วยเอง สิงหไกรภพได้พาพี่ชายหนีออกมาได้ ซึ่งยักษ์พินทุมารได้ทำการรบกับเพชรพญาทร โดยไม่แพ้ชนะกัน และได้คิดถึงลูกขึ้นมาจึงหวนกลับมาหาแต่ก็ไม่พบลูก จึงออกตามหาจนทันกัน แต่สิงหไกรภพได้หนีจนพ้นเขตถ้ำแก้วของยักษ์พินทุมารไปแล้ว ยักษ์พินทุมารเสียใจที่ลูกรักหนีจากตน ตัดสินใจสั่งเสียลูกขอให้ตามเอาพระขรรค์วิเศษคืนจากวิทยาทรให้ได้ พร้อมให้ “สายรุ้งวิเศษ”ไว้ป้องกันตัว จากนั้นก็สิ้นใจตาย
         สิงหไกรภพเสียใจที่ยักษ์พินทุมารต้องตายไป จึงได้พากันทำพิธีศพให้ เมื่อหักห้ามใจได้แล้วก็ชวนพี่ชายพากันไปหาเพชรพญาทรจนเจอ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้น แต่เด็กทั้งสองก็รบสู้เพชรพญาทรไม่ได้ เพราะเพชรพญาทรได้รับ พรวิเศษว่า ...ไม่มีใครสามารถฆ่าให้ตายได้ นอกจาก “เทวี ๔ ตา” เท่านั้น... สิงหไกรภพยังไม่ละความพยายามที่จะออกตามหาเทวี ๔ ตา เพื่อจะขอให้เทวีนั้นไปฆ่าเพชรพญาทรให้ได้ สิงหไกรภพเดินทางมาจนพบ “นครมารัน” จึงกินดอกไม้วิเศษให้ร่างกายกลายเป็นนกแก้ว แล้วบินเข้าไปในพระราชวัง จนพบกับ  “พระธิดาสร้อยสุดา” แล้วสิงหไกรภพก็กลายร่างเป็นเด็กตามเดิม แล้วก็ได้เข้ามาเล่นกับพระธิดาจนสนิทสนมกัน สิงหไกรภพได้ถามหาเทวี ๔ ตา ซึ่งสร้อยสุดาไม่รู้จัก สิงหไกรภพจึงต้องออกตามหาเทวี ๔ ตาต่อไป ก่อนจากกันสิงหไกรภพได้มอบแหวนให้สร้อยสุดา สร้อยสุดาก็พาสิงหไกรภพไปหลบซ่อนในดอกบัวใหญ่ที่สร้อยสุดาได้กำเนิดขึ้นมา (สร้อยสุดาเป็นนางที่เกิดในดอกบัวไม่ใช่ยักษ์ ท้าวจตุรพักตร์พญายักษ์ผู้ครองนครมารัน มาพบเข้าจึงนำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม)สิงหไกรภพกับพี่ชายออกมาจากเมืองมารันของยักษ์ “จตุรพักตร์” ก็พากันออกค้นหาเทวี ๔ ตา ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งบนฟ้า ในมหาสมุทรถิ่นที่อยู่ของพญานาค จนกระทั่งได้พบกับพญาลิงชื่อ “วาตะ” และ “ปู่นกฮูก” ที่คอยช่วยเหลือและช่วยรบกับเพชรพญาทรอยู่หลายครั้งด้วยกัน
         หลายปีผ่านไป สิงหไกรภพเติบโตเป็นหนุ่มน้อยรูปงาม พราหมณ์จินดาจึงพากลับมายังหมู่บ้านพราหมณ์บ้านเกิดของตน พราหมณ์ผู้เฒ่าคนหนึ่งเข้ามาทักทายพราหมณ์จินดา เมื่อพราหมณ์จินดาแนะนำว่าสิงหไกรภพเป็นน้องของตน แต่พราหมณ์เฒ่าก็ค้านว่าไม่ใช่เพราะรู้ดีว่าแม่ของพราหมณ์จินดามีลูกชายเพียงคนเดียวเท่านั้น ทำให้สิงหไกรภพซึ่งแอบได้ยิน ก็เริ่มสงสัยในชาติกำเนิดที่แท้จริงของตน จึงขอให้พราหมณ์จินดาเล่าให้ฟัง พราหมณ์จินดากลัวน้องชายโกรธ จึงเพียงแต่เล่าว่าถูกยักษ์พินทุมารบังคับให้ไปลักสิงหไกรภพมาจากในป่า เพื่อมาเลี้ยงดู โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าพ่อกับแม่สิงหไกรภพเป็นใครและอยู่ที่ใหน สิงหไกรภพจึงชวนพี่ชายออกตามหาพ่อแม่และเพชรพญาทรต่อไป
        สิงหไกรภพเดินมาจนพบนครมารันอีกครั้ง แต่ยังจำไม่ได้ว่าเคยมาแล้วในตอนเป็นเด็ก สิงหไกรภพจึงกินใบไม้วิเศษกลายร่างเป็นนกแก้วเข้าไปในสวนดอกไม้ เห็นสร้อยสุดาอยู่ในสวนก็เกิดหลงรัก บินมาใกล้แล้วพูดคุยด้วย สร้อยสุดาเห็นนกพูดได้ก็เอ็นดูพาไปเลี้ยงดูในตำหนัก หลายวันผ่านไปสิงหไกรภพก็กลายร่างเป็นคน เมื่อสร้อยสุดาเห็นสิงหไกรภพก็นึกชอบพอใจ จนกระทั่งกลายเป็นความรักอย่างแน่นแฟ้นต่อกัน และลักลอบได้เสียกันเป็นสามีภรรยากันในที่สุด         หลายวันเข้าพวกนางกำนัลยักษ์ก็พากันสงสัยเพราะได้กลิ่นมนุษย์ จึงพากันไปทูลยักษ์จตุรพักตร์ โดยท้าวจตุพักตร์ให้ทหารยักษ์ออกค้นหาจนทั่วก็ไม่พบ ต่อมาสร้อยสุดาตั้งครรภ์ก็เกิดหวาดหวั่นกลัวว่าพ่อจะโกรธ สิงหไกรภพจึงชวนสร้อยสุดาหนีออกจากนครมารัน โดยกินใบไม้ให้กลายเป็นนกแก้วแล้วพากันบินหนีไป ทำให้จตุรพักตร์โกรธมาก ลั่นวาจาว่าต้องฆ่าสิงหไกรภพให้จงได้
        สิงหไกรภพพาสร้อยสุดาและพราหมณ์จินดารอนแรมมาถึงกลางป่า เพชรพญาทรมาเห็นสร้อยสุดานอนหลับอยู่ ขณะที่สิงหไกรภพไปหาอาหาร จึงลักพาตัวสร้อยสุดาไปไว้ในถ้ำของตน สิงหไกรภพกลับมาไม่เห็นสร้อยสุดาก็เสียใจพากันออกตามหาจนทั่วแต่ไม่พบ เพชรพญาทรนั้นพยายามจะลวนลามสร้อยสุดาแต่ก็ทำไม่ได้เพราะเมื่อเข้าใกล้ตัวนางคราใดก็จะเหมือนจับต้องเปลวไฟให้ร้อนลนทุกครั้งไป น้าผีและพราหมณ์จินดาแปลงกายเป็นนกแก้วออกตามหา จนพบสร้อยสุดาอยู่ในถ้ำ จึงกลับมาบอกสิงหไกรภพ ทั้งสามจึงพากันแปลงกายมาหาสร้อยสุดานัดแนะแผนการที่จะฆ่าเพชรพญาทร ต่อมาเพชรพญาทรรู้ว่าสร้อยสุดาวางแผนจะเล่นงานตน ก็จะใช้พระขรรค์ประกายฟ้าเล่นงานสร้อยสุดาจากทางด้านหลังปรากฏว่าสร้อยสุดาสามารถเห็นเพชรพญาทรจากทางด้านหลังได้ จึงหันกลับมาแทงเพชรพญาทรตาย ทำให้ทุกคนได้รู้ว่าที่แท้แล้วสร้อยสุดาก็คือ เทวี ๔ ตา ผู้ซึ่งสามารถมองเห็นได้รอบทิศนั่นเอง เมื่อเพชรพญาทรตายแล้ว พราหมณ์จินดาจึงพาสิงหไกรภพออกตามหาพ่อแม่ที่แท้จริงของตน ระหว่างทางยักษ์จตุรพักตร์ได้ติดตามมาทัน แล้วพาตัวสร้อยสุดากลับไปนครมารันของตนเอง สร้อยสุดาจำใจต้องกลับไปกับพ่อ เพราะว่าไม่ต้องการให้สิงหไกรภพถูกพ่อฆ่าตาย
        สิงหไกรภพตัดสินใจออกตามหาพ่อแม่ของตนเองก่อน แล้วค่อยติดตามเอาสร้อยสุดาคืนมาในภายหลัง พราหมณ์จินดาได้พาสิงหไกรภพมาจนถึงหมู่บ้านนายพรานสิงห์ สืบถามหาพ่อแม่ของสิงหไกรภพ จึงรู้ว่าเป็นพระราชาอยู่ที่นครโกญจา สิงหไกรภพกับพี่ชายจึงพากันมาที่นครโกญจา ทำให้พ่อแม่ลูกที่พรากจากกันนับสิบกว่าปีได้กลับมาพบกันอีกครั้ง ต่างคนต่างดีใจและมีความสุขอย่างที่สุด        จากนั้นสิงหไกรภพจึงได้ลาบิดามารดาเพื่อกลับไปนครมารันเพื่อไปรับสร้อยสุดากลับมาอยู่ด้วยกัน แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปในนครมารันได้ เพราะยักษ์จตุรพักตร์ได้ใช้เวทมนต์คาถาปิดบังนครเอาไว้ จนกระทั่งสร้อยสุดาคลอดลูกออกมาเป็นชาย ท้าวจตุรพักตร์จึงตัดสินใจจะฆ่าสิงหไกรภพให้ตาย โดยทำเป็นเปิดเมืองให้ทุกคนมองเห็นได้แล้ว เพื่อล่อให้สิงหไกรภพเข้ามา แล้วจะหาทางจะฆ่าทิ้ง เมื่อสิงหไกรภพเข้ามาพบสร้อยสุดาได้แล้ว แต่ก็ถูกไล่ตามฆ่าจึงต้องหนีกลับเมืองโกญจาพร้อมสร้อยสุดา จตุรพักตร์แค้นมากจึงยกทัพมาตามตีถึงเมืองโกญจา ซึ่งพลยักษ์มีจำนวนมากมายสุดที่สิงหไกรภพจะต้านทานได้ พระฤาษีจึงต้องมาช่วยสอนเวทมนต์ให้สิงหไกรภพผูกหุ่นพยนต์เพื่อสู้รบกับพลยักษ์ โดยหุ่นพยนต์นั้นฆ่าไม่ตาย แต่พลยักษ์กลับล้มตายระเนระนาดจนหมดสิ้น
        ในที่สุด จตุรพักตร์ก็ถูกฆ่าตาย สิงหไกรภพจึงครองคู่กับสร้อยสุดาและปกครองอาณาประชาราษฎร์ต่อไปอย่างมีความสุขตราบจนสิ้นอายุขัย


ที่มา  https://sites.google.com/site/zzxzzx23tyutyu57/tanan/sing-ha-kir-phph

วันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560

พระนลคำหลวง

เรื่องพระนลเป็นนิทานแทรกอยู่ในคัมภีร์มหาภารตะ มีเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องในคติพราหมณ์ซึ่งแตกต่างจากคำหลวงอื่นๆที่มักจะเป็นวรรณคดีในพุทธศาสนา นอกจากนี้พระราชนิพนธ์พระนลคำหลวงยังได้รับการยกย่องจากวรณคดีสโมสรว่าเป็นหนังสือเรื่องดีและแต่งดีในกวีนิพนธ์อีกด้วยค่ะ




เนื้อเรื่องโดยย่อ

ในอดีตกาล ณ เมืองคันธปุระ ได้มี นางทมยันตี(ทะมะยันตี) เป็นธิดาของ พระเจ้าภีมราช เมื่อนางโตเป็นสาวก็มีรูปโฉมงดงามและเป็นกุลสตรีที่เพรียบพร้อม ความงามของนางร่ำลือกันไปไกลจนถึงสวรรค์เลยทีเดียว ส่วน "พระนล"นั้น เป็นเจ้าชาย "เมืองนีษระ" เป็นคนเก่ง ฉลาด และรูปลักษณ์งดงามมาก ต่างก็ยกย่องและร่ำลือกันไปไกล เมื่อทั้งคู่เติบโตอยู่ในวัยหนุ่มสาวต่างก็ใฝ่ฝันและถวิลหาซึ่งกันและกัน ในวันหนึ่งพระนลได้ไปเที่ยวที่อุทยาน แล้วจับ"นางหงส์"ได้ตัวหนึ่งโดยนางหงส์อ้อนวอนขอให้ปล่อยไปแล้วสัญญาว่าจะไปเล่ากิตติศัพท์และความหล่อเหลาของพระนลให้นางทมยันตีฟังพระนลจึงปล่อยไป เมื่อนางทมยันตีได้ฟังนางหงส์มาอธิบายต่างๆนาๆ เกี่ยวกับพระนลก็มีจิตปฏิพัทธ์เกิดความปั่นป่วนในหัวใจด้วยอานุภาพแห่งความรัก นางทมยันตีก็ยิ่งหลงใหลอยากจะเห็นหน้าและอยากได้พระนลมาครอบครอง เนื่องด้วยบุพเพสันนิวาสนั้นเอง พระเจ้าภีมราชจึงประกาศพิธีสยุมพรของพระนางทมยันตีขึ้น โดยเชิญเจ้าชายและกษัตริย์ทุกเมืองมาร่วมพิธี ให้นางทมยันตีพึงพอใจและเลือกคู่ด้วยตนเอง (พิธีสยุมพรเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และมีเกียรติมากของกษัตริย์อินเดีย) ซึ่งเจ้าชายและกษัตริย์จากต่างเมืองก็มากันมากมายแต่นางทมยันตีก็ไม่ได้ถูกใจใครเลย พระนลก็เดินทางมาร่วมงานนี้ด้วย ในระหว่างทางที่มาได้พบกับ พระอินทร์ พระยม พระอัคคี และ พระวรุณ ก็มาร่วมงานนี้ด้วย และได้ขอร้องให้พระนลไปเล่าความรู้สึก ความดี ความหล่อของตัวเองให้นางฟัง พระนลเศร้าใจแต่ด้วยอำนาจเทวฤทธิ์พระนลจำต้องทำตาม แต่นางไม่ได้รักและชอบใจในเทพทั้ง ๔ เลย ชอบแต่พระนลที่มาเป็นพ่อสื่อให้คนอื่นโดยไม่ได้นำเสนอตัวเองและบอกความรู้สึกตัวเองเลยแต่อย่างใด ถึงเวลาเลือกคู่นางทมยันตีได้เห็นพระนลมี ๕ ร่าง โดยไม่รู้ว่าร่างใหนคือพระนลตัวจริง นางจึงอธิษฐานขอให้เทวดาช่วยเหลือ แล้วนางก็ได้พระนลตัวจริงมาครอบครอง ทุกคนที่มาต่างก็ผิดหวังกลับไป ระหว่างทางที่เทพทั้ง ๔ เหาะกลับไปสวรรค์นั้นได้พบกับ "กลี"และ "ทวารบร" ซึ่งจะมางานนี้แต่ทราบว่านางทมยันตีได้เลือกพระนลไปแล้ว ก็โกรธเคืองสัญญาว่าจะทำลายความรักของทั้งคู่และจะทำให้แตกแยกและพลัดพรากจากกันให้ได้ หากตัวเองไม่ได้นางมาครอง ซึ่งเทพทั้ง ๔ ต่างขอร้องและห้ามปรามแต่ทั้งคู่ก็ไม่ยอม จึงต้องปล่อยเลยตามเลย เมื่อพระนลและนางทมยันตีได้อภิเษกสมรสกันแล้วก็กลับมาครองเมืองนีษระของพระนลด้วยกันอย่างมีความสุข โดยไม่เปิดโอกาสและเหลียวมองกลีและทวารบรเลยแม้แต่น้อย ทั้งคู่จึงเริ่มแผนชั่วโดยกลีเข้าสิงพระนล ส่วนทวารบรเข้าสิงสกา(กีฬาชนิดหนึ่งซึ่งนิยมเล่นในอดีตและชอบท้าพนันกัน) แล้วก็ดลจิตดลใจให้ "ปุษกระ" ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระนลซึ่งมีนิสัยเป็นพาล ให้ท้าพระนลเล่นพนันสกาชิงบัลลังก์ในการครองบ้านเมืองกัน ด้วยขัตติยะมานะความเป็นสายเลือดกษัตริย์ พระนลจึงรับท้าพนันแล้วก็แพ้พนันสกาในครั้งนั้น จึงต้องเนรเทศตัวเองออกจากเมืองไปเป็นเวลา ๓ ปี โดยบัลลังก์และราชสมบัติตกเป็นของปุษกระ ซึ่งนางทมยันตีก็อาสาไปกับพระนลด้วยทั้งที่ทุกข์ยากและลำบากมาก พระนลขอให้นางอยู่ในวังแต่นางก็ไม่ยอมขอตามพระนลไปทุกหนทุกแห่ง ทั้งคู่เดินทางไปในป่าอาศัยอยู่ในป่าด้วยกันอย่างมีความสุขทั้งที่ลำบากและขัดสนแต่ก็ไม่หวั่นอุปสรรคใดๆ ต่างให้ความรักความห่วงใยช่วยเหลือดูแลในกันและกันอย่างดี ทำให้กลีที่สิงพระนลอยู่นั้นก็ทนไม่ได้จึงเริ่มแผนชั่วร้ายขึ้นอีก โดยในตอนกลางคืนพระนลได้ลุกขึ้นและเดินเหม่อลอยหนีไปในป่าลึกเข้าไปๆ และได้มาพบกับ "พญานาค" ซึ่งกำลังจะถูกไฟไหม้ตาย พระนลจึงเข้าไปช่วยเหลือจนรอดมาได้อย่างปลอดภัย พญานาคจึงอยากช่วยพระนลให้หลุดพ้นจากการสิงสู่ของกลี เลยใช้เวทย์มนต์ทำให้พระนลมีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไปไม่หล่อและรูปงามเหมือนเดิม พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า "พหุ และให้ ภูษา(ผ้า)แก่พระนลไว้ หากต้องการเปลี่ยนเป็นร่างเดิมก็ให้สวมใส่ภูษานี้ก็จะกลับมามีรูปร่างหน้าตาเหมือนเดิม พร้อมกันนั้นพญานาคยังได้แนะนำให้พระนลไปอยู่รับใช้ ท้าวฤตุปรณะ แห่ง เมืองอโยธยา ซึ่งท้าวฤตุปรณะนั้นเชี่ยวชาญการเล่นสกาอย่างมาก ฝ่ายนางทมยันตี เมื่อตื่นขึ้นมาไม่พบพระนลก็ออกตามหารอนแรมไปทั่วอย่างไม่รู้ทิศทาง นางได้เดินไปในป่าและถูกงูใหญ่รัดและจะกลืนกินนาง นางจึงได้ร้องให้คนช่วย พอดี "นายพรานป่า"มาพบเข้าจึงช่วยนางไว้ได้ พรานป่าเห็นนางเป็นคนสวยและพลัดพรากจากสามีก็เลยฉวยโอกาสจะเอานางเป็นเมียแต่นางไม่ยอม พรานป่าจะปลุกปล้ำนางให้ได้ นางจึงตั้งสัจจะอธิษฐานที่นางซื่อสัตย์ต่อสามีและรักเดียวใจเดียวขอให้นางแคล้วคลาดปลอดภัย ซึ่งปรากฏว่าพรานป่าเกิดอาการหายใจไม่ออก แล้วก็ถึงแก่ความตายโดยที่ยังไม่ได้ลงมือทำร้ายนางแต่อย่างใด นางจึงรีบหนีซัดเซพเนจรจนมาถึง เมืองวิภาปุระ ซึ่ง พระนางภาณุมตี เจ้าหญิงของเมืองนี้เห็นเข้าก็รู้ว่านางทมยันตีมาจากสกุลผู้ดี จึงนำนางไปเป็นนางกำนัลรับใช้ของตนเอง โดยที่ไม่รู้ว่านางเป็นใครมาจากใหน จนวันหนึ่งมีอำมาตย์มาจากเมืองคันธปุระได้พบนางทมยันตีเข้าก็จำได้ จึงได้เชิญให้นางทมยันตีเสด็จกลับเมืองคันธปุระ นางทมยันตียังคงเศร้าซึมเพราะคิดถึงพระนลตลอดเวลา พระบิดาของนางเห็นเข้าก็สงสารจึงสั่งให้อำมาตย์ออกไปตามหาพระนลตามเมืองต่างๆ จนมาถึงกรุงอโยธยา อำมาตย์ได้ทายปัญหาที่นางทมยันตีตั้งให้มาแล้วให้ผู้คนในวังได้ทายเล่นกัน ซึ่งพหุสามารถตอบได้ทั้งหมด  อำมาตย์กลับไปทูลนางทมยันตี ซึ่งนางก็รู้ทันทีว่าต้องเป็นพระนลอย่างแน่นอน(เพราะปัญหาคำทายบางอย่างมีแต่พระนลและนางทมยันตีเท่านั้นที่รู้กัน) ว่าแล้วนางทมยันตีก็คิดอุบายที่จะพิสูจน์ให้ได้ว่าพหุนั้นก็คือพระนล จึงได้ประกาศจัดพิธีสยุมพรเลือกคู่ให้กับตนเองครั้งใหม่ขึ้นอีกครั้ง และได้ให้อำมาตย์ไปเชิญท้าวฤตุปรณะแห่งกรุงอโยธยามาร่วมพิธีสยุมพรนี้ด้วย พิธีสยุมพรจะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้แต่เพิ่งมาบอกในวันนี้ ซึ่งระยะทางระหว่างเมืองคันธปุระและเมืองอโยธยานั้นไกลกันมากคงจะไปไม่ทันเป็นแน่ แต่พหุก็ได้อาสาที่จะเป็นผู้บังคับราชรถให้ โดยที่พระนลนั้นมีฝีมือการบังคับราชรถให้รวดเร็วดังพายุได้ ทำให้ท้าวฤตุปรณะอัศจรรย์ในความสามารถยิ่งนัก และตรัสว่าหากพหุสอนวิธีบังคับราชรถให้ได้รวดเร็วอย่างนี้แก่พระองค์ พระองค์ก็จะสอนกลเม็ดการเล่นสกาให้แก่พหุด้วย ซึ่งทั้งสองก็ได้แลกเปลี่ยนวิชาความรู้กันระหว่างทางจนมาถึงกรุงอโยธยาภายในเวลาเพียงวันเดียว ซึ่งทำให้กลีที่สิงพระนลอยู่นั้น ต้องรีบหนีออกจากร่างของพระนลเพราะหากเล่นพนันสกากันอีกต้องแพ้พระนลอย่างแน่นอน ทำให้พระนลมีสติคืนกลับมาในสภาพเดิมทุกประการ เมื่อมาถึงเมืองคันธปุระ นางทมยันตีก็ได้ร้องเพลงอยู่ในม่านกั้นให้พหุฟัง อันเป็นเรื่องของนางกับพระนลตั้งแต่เริ่มมีใจนึกถึงกัน พบกันครั้งแรกและเรื่องราวของทั้งสองต่างๆนาๆตามลำดับ จนกระทั่งพลัดพรากจากกัน พระนลในร่างของพหุได้ฟังก็โศกเศร้าเสียใจและร้องให้ออกมา นางทมยันตีจึงให้พาพระโอรสและพระธิดาของนางออกมาให้พหุได้เห็น พหุได้เข้าไปหาและโอบกอดลูกทั้งสองด้วยความรักและเอ็นดูสุดประมาณ แล้วนางทมยันตีก็ปรากฏตัวออกมา และขอให้พหุกลับคืนร่างเดิม พหุจึงได้สวมภูษาแล้วก็กลับกลับคืนร่างเดิมเป็นพระนลอีกครั้ง ต่างก็สวมกอดและร่ำให้ดีอกดีใจจนสลบไป ณ ที่นั้น ทำความปลาบปลื้มและตื้นตันใจแก่ทุกๆคนที่ได้เห็นและรับรู้เรื่องราวของทั้งคู่ แล้วก็ช่วยกันทำให้ฟื้นขึ้นมาอยู่ร่วมกันหลังจากที่ต้องผจญชะตากรรมต่างๆนาๆ หลังจากนั้นพระนลก็ได้พานางทมยันตีพร้อมด้วยพระโอรสและพระธิดากลับสู่เมืองนีษระของพระองค์เพราะครบกำหนด ๓ ปีพอดี โดยพระนลได้ไปท้าปุษกระมาเล่นพนันสกากันอีกครั้ง ซึ่งในคราวนี้ปุษกระเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ถึงแม้ทวารบรจะสิงสกาอยู่ก็ตาม ทำให้ทวารบรต้องรีบหนีไปก่อนที่ความชั่วร้ายจะแตกและตัวเองอาจมีภัย พระนลให้โอกาสปุษกระได้อาศัยอยู่ในเมืองต่อไป ไม่ได้เนรเทศออกนอกเมืองไปแต่อย่างใด พระนลและนางทมยันตีก็ได้รับการอภิเษกให้ขึ้นครองราชย์สมบัติอันเป็นของพระองค์มาแต่เดิมอีกครั้ง และทรงปกครองทำนุบำรุงบ้านเมืองอาณาประชาราษฎร์ด้วยความเป็นธรรม ทำให้เกิดความสุขและความร่มเย็นสืบมาตราบจนสิ้นอายุขัย

วิวาห์พระสมุทร

  เนื้อเรื่องได้ปรับมาจากนิยายกรีกโบราณ ที่มีความเชื่อว่า ถ้าหญิงงามตายในทะเลจะช่วยให้รอดพ้นอุทกภัย ซึ่งมีพระสมุทรเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองดูแล


เรื่องย่อ
กล่าวถึงประชาชนชาวกรีก ณ เกาะอัลฟะเบตา โง่เขลา หลงเชื่อในอำนาจทางทะเล เมื่อครบรอบ 100 ปี จะต้องส่งสาวพรหมจารีไปเป็นเจ้าสาวของพระสมุทร กษัตริย์มิดัสผู้ครองเกาะจำใจส่งราชธิดาชื่ออันโดรเมดา ไปสังเวยทางทะเล แต่อันเดรคู่รักของนางออกอุบาย ขอให้นายนาวาเอกเอดเวิดไลออนกัปตันเรืออังกฤษมาขู่ชาวเมืองให้ยกนางให้อันเดรนางจึงรอดชีวิต และได้แต่งงานกับอันเดรสมปรารถนา
ในประเทศกรีซสมัยโบราณ มีเกาะแห่งหนึ่งชื่อว่า อัลฟาเบต้า กษัตริย์ มิดัส ผู้ครองเกาะอัลฟาเบต้า มีพระราชธิดาโฉมงามองค์หนึ่ง คือเจ้าหญิงอันโดรเมดาชาวเกาะนี้ทุกคนเกรงกลัวในอำนาจแห่งพระสมุทร และเชื่อว่าเมื่อครบรอบทุกๆ หนึ่งร้อยปี จะต้องส่งสาวพรหมจารีไปเป็นเจ้าสาวของพระสมุทร หรือทำพิธีบูชายัญต่อเทพแห่งท้องทะเลที่เรียกว่าวิวาหพระสมุทร โดยการจับหญิงสาวพรหมจรรย์ไปมัดเชือกทิ้งไว้ที่ทะเลให้คลื่น พัดลงไปในทะเล พอวันรุ่งขึ้นเมื่อหญิงนั้นหายไป ชาวเมืองก็จะบอกว่า หญิงผู้นั้นได้วิวาห์กับพระสมุทรแล้ว (เหตุการณ์นี้ ร.6 ทรงแต่งล้อตำนานกรีกโบราณ ที่เทพเจ้าเนปจูนมาเอานางอันโดรเมดาไปเป็นเครื่องสังเวย ชื่อนางเอกของวิวาหพระสมุทรก็เอามาจากตำนานนั้น)
เจ้าหญิงอันโดรเมดานั้นรักกันอยุ่กับ เจ้าชายอันเดร ซึ่งยากจน เพราะพระบิดาเอาทรัพย์สินไปลงทุนแล้วขาดทุนหมด กษัตริย์มิดัสพระบิดา จึงไม่ทรงอยากได้เจ้าชายอันเดรมาเป็นเขย เพราะรังเกียจว่าจน เจ้าชายอันเดรก็เลยคิดวางแผนหาวิธีต่างๆที่จะได้แต่งงานกับเจ้าหญิงอันโดรเมดา เช่น คิดวางแผนจะทำเป็นว่าเอาเรือมาขู่โดยล้อมเกาะ แต่ก็ติดขัดอยู่ที่ไม่มีเรือ พอคิดถึงวิธีที่จะเอาเงินทองมาให้ก็ไม่มีเงินทองอีก เจ้าหญิงอันโดรเมดา ที่ช่วยร่วมคิดแผนด้วยกันเลยบอกให้ เจ้าชายอันเดรลองไปสู่ขอกับกษัตริย์มิดัส พระบิดาของตนแบบตรงๆดู
พอใกล้ถึงเวลาที่จะต้องทำพิธีส่งเจ้าสาวให้พระสมุทร ชาวเกาะก็เริ่มแตกตื่น บังเอิญมีเรือรบอ๊อกฟอร์ดจากประเทศอังกฤษมาจอดเทียบท่า เรือนี้มีนายนาวาเอก เอดเวิด ไลอ้อน เป็นผู้บังคับการ และมีเจ๊กบ๋อยประจำเรือไว้หางเปียยาว ชื่อเต๊กหลี ติดมากับเรือด้วย พอเต๊กหลีขึ้นไปบนท่า ชาวเมืองไม่มีใครเคยเห็นคนจีนมาก่อน ก็แตกตื่นว่าคนประหลาดมีหางบนหัว เป็นผีทะเลมาทวงส่วยให้พระสมุทร
พระสังฆราชหัวหน้านักบวชประจำเกาะ มีหลานชายคือคอนสแตนติโนส ซึ่งก็หลงรักเจ้าหญิงอันโดรเมดาอยู่เช่นกัน เห็นได้ทีก็คบคิดกันกับเต๊กหลีทำอุบายให้พลเมืองเชื่อว่า เต๊กหลีเป็น ผีทะเล ผู้แทนของพระสมุทรที่มาทวงส่วย เพราะครบรอบร้อยปีแล้ว และเจ้าหญิงอันโดรเมดาจะต้องเป็นหญิงสาวที่จะต้องไปวิวาห์กับพระสมุทร หรือกับผู้ที่พระสมุทรให้มาเป็นตัวแทน โดยตกลงกันว่า พอถึงตอนทำพิธีส่งตัวเจ้าสาวพระสมุทร เต๊กหลีในฐานะผีทะเล ก็จะออกมาชี้ตัวคอนสแตนติโน้สให้เป็นผู้แทนพระสมุทร และกษัตริย์มิดัสก็จะต้องให้พระราชธิดาแต่งงานกับผู้แทนพระสมุทร
แต่แผนนี้รั่วไปถึงเจ้าหญิง และเจ้าชายอันเดร เจ้าหญิงอันโดรเมดาจึงส่งพระพี่เลี้ยงสาวชาวอังกฤษชื่อ แมรี่ไปขอความช่วยเหลือจาก นาวาเอก เอดเวิด ไลอ้อน ผู้บังคับการเรือรบ จึงเกิดการซ้อนแผนขึ้น ในพิธีส่งตัวเจ้าสาวพระสมุทร นาวาเอก เอดเวิด ไลอ้อน เอาทหารเรืออังกฤษในบังคับบัญชาถืออาวุธเข้ามาควบคุมสถานการณ์ เต๊กหลีเห็นเช่นนั้นก็ไม่กล้ารับเป็นทูตพระสมุทร นาวาเอก เอดเวิด ไลอ้อน จึงกล่าวว่า เขาในฐานะเป็นผู้บังคับการเรือราชนาวีอังกฤษ มีอำนาจเหนือท้องทะเล ถือว่าเป็นผู้แทนพระสมุทรได้โดยชอบธรรม
พระสังฆราชโดนดาบปลายปืนของทหารเรืออังกฤษจี้ควบคุมตัว จึงต้องยอมรับว่านาวาเอก เอดเวิด ไลอ้อน เป็นผู้แทนพระสมุทรจริง นาวาเอก เอดเวิด ไลอ้อน ก็เลยเรียกเจ้าบ่าวที่พระสมุทรยินยอมพร้อมใจด้วยมารับตัวเจ้าสาวไป เจ้าชายอันเดรก็ปรากฏตัวขึ้นในชุดเครื่องแบบทหารเรืออังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นญาติหรือเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกับพระสมุทร แล้ว จึงสมควรจะแต่งงานกับเจ้าหญิงแทนพระสมุทรได้ ทุกๆคนก็พลอยยินดีไปกับเจ้าชายและเจ้าหญิงทั้งสอง และนาวาเอก เอดเวิด ไลอ้อน ก็ได้แต่งงานกับแมรี พระพี่เลี้ยงชาวอังกฤษของเจ้าหญิงด้วยดี





ที่มา
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%A3

ทศชาติชาดก

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องทศชาติชาดก หรือต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการบำเพ็ญเพียรอย่างอุตสาหะของพระพุทธเจ้าในชาติก่อน ๆ เพื่อให้เข้าใจหลักธรรม คำสอน หรือการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อย่างถ่องแท้ เพื่อให้เข้าใจถึงการใช้ชีวิตที่เหมาะควรให้มากขึ้น การอ่านนิทานทศชาติชาดก ย่อมส่งผลดีต่อแนวคิด และจิตใจของผู้นั้นได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่านิทานทศชาติชาดกคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และจะมีประโยชน์อะไรต่อผู้อ่านบ้าง วันนี้ดิฉันได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับนิทานทศชาติชาดกมาฝากแล้วค่ะ   
                 









พระเจ้าสิบชาติ เป็นชาติสำคัญที่บำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ ใน 550 พระชาติของพระองค์ โดยมีหลักจำคือ หัวใจพระเจ้าสิบชาติดังนี้

เต - เตมีย์ใบ้ พูดถึงเรื่องของพระเตมีย์ซึ่งเป็นใบ้

ชะ - พระมหาฃนก เรื่องความอดทน

สุ - สุวรรณสาม เคารพ กตัญญู

เน - เนมินราช

มะ - มโหสถชาดก

ภู - ท้าวภูริทัต

จะ - จันทรกุมาร

นา - พระนารถ

วิ - วิฑูร

เวส - เวสสันดรชาดก บำเพ็ญทานบารมี



 ชาติที่1พระเตมีย์







พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์ 
ทรงบำเพ็ญเนกขัมบารมี 

เนื้อเรื่อง

พระเจ้ากาสีและพระนางจันทาเทวี แห่งเมืองพาราณสีไม่มีพระโอรสพระธิดาพระะนางจันทาเทวีทรงตั้งสัตยาธิษฐานให้ พระอุโบสถศีลที่พระนางรักษาส่งผลให้ได้พระโอรส แรงอธิษฐานของพระนางทำให้ท้าวสักกเทวราช ต้องเสด็จไปอ้อนวอน ให้เทพบุตรโพธิสัตว์ ซึ้งกำลังจะจุติ (ตาย) จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาเกิดเป็นพระโอรสของพระนาง ไม่นาน พระนางก็ทรงครรภ์ ยังความปลาบปลื้มปิติแก่พระเจ้ากาสี ข้าราชบริพารและชาวเมืองเป็นอย่างยิ่ง วันที่พระโอรสประสูตินั้นเกิดฝนตกตลอดทั้งแคว้น ความแห้งแล้งหายไป หมู่ไม้นานาพันธุ์สดชื่นพรโอรสจึงได้พระนามว่า พระเตมีย์ (ผู้ทำให้เกิดความชุ่มฉ่ำ) พระกุมารเตมีย์ทรงน่ารัก พระฉวีวรรณผุดผ่อง ทรงเลี้ยงง่าย พระบิดาทรงคัดเลือกแม่นมที่มีลักษณะดี ให้เลี้ยงดูพระกุมารถึง 64 คน เมื่อพระเตมีย์มีพระชนมายุเพียง 1 เดือน บรรทมอยู่บนพระเพลาของพระบิดา ซึ่งกำลังพิพากษาความผิดของโจร ทำให้พระองค์ ทรงระลึกชาติได้ว่า เคยเกิดเป็นกษัตรย์ครองเมืองนี้อยู่ 20 ปี ตัดสินประหารชีวิตผู้คนมาไม่น้อยตายแล้วส่งผลให้ตกนรกเป็นเวลานาน พระองค์ร้อนพระทัย หาทางพ้นจากตำแหน่งกษัตริย์ เทพธิดานางหนึ่งเคยเป็นพระมารดาของพระเตมีย์ในอดีตชาติ ยังคงติดตาม รักษาพระองค์อยู่ ได้บอกอุบายให้พระองค์ทำเป็นเด็กพิการง่อยเปลี้ยเสียขา หูหนวก เป็นใบ้ พระองค์กระทำตามตั้งแต่นั้นมา พระเจ้ากาสีทรงพยายามทดลองพระโอรสด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ให้อดอาหาร เผาที่ประทับ ปล่อยช้างและงูให้มาจะทำร้าย ให้บรรทมอยู่กับอุจจาระ บรรทมบนความร้อน ให้หญิง รุ่นสาวมาเล้าโลม เป็นต้น แต่พระโอรสก็ไม่มีปฏิกิริยาอะไร จนพระเตมีย์ มีพระชนมายุ 16 พรรษา โหรทำนายทายทักว่า พระเตมีย์เป็นตัวเสนียดจัญไร ให้ฝังทั้งเป็น พระเจ้ากาสีทรงจำยอมให้ทำตามโหรหลวง พระนางจันทาเทวี ทรงขอเวลา 7 วัน พระนางพร่ำอ้อนวอนให้พระเตมีย์เลิกทำตัวพิการ แต่ก็ไร้ผลพระเตมีย์สุดแสนสงสารและ สะเทือนพระทัยยิ่งนัก แต่ก็อดกลั้นเอาไว้ จนนายสุนันทสารถีรับพระองค์ไปฝังนอกเมือง นายสารถีตั้งใจจะขับรถม้ามุ่งหน้าออกประตูเมืองทางทิศตะวันตก แต่กลับไปออกประตูเมืองทางทิศตะวันออกหยุดรถที่ป่าใหญ่ ด้วยเข้าใจว่าเป็นป่าช้าผีดิบ เขาเปลืองเครื่องทรงพระเตมีย์ออก แล้วลงไปขุดหลุม พระเตมีย์เสด็จลงจากรถลองพระกำลังโดยยกรถม้า ขึ้นเหวี่ยงเหนือพระเศียร แล้วเสด็จไปหาสารถีตรัสสั่งให้กลับไปกราบทูลพระเจ้ากาสีและพระเจ้าจันทาเทวีทรงทราบเรื่องราว สำหรับพระองค์จะออกบวช เมื่อพระเจ้ากาสีและพระนางจันทาเทวีทรงทราบ รับสั่งให้จัดขบวนพร้อมเชิญชวนชาวเมืองไปเข้าเฝ้า พระเตมีย์ พระดาบสเตมีย์แสดงธรรมให้ทุกคนฟัง พระบิดาพระมารดาและทุกคนเลื่อมใสขอบวชอยู่ด้วย ไม่นานนักก็บรรลุฌานสมาบัติ เมื่อมรณาภาพแล้วไปเกิดบนพรมโลก 




ชาติที่พระมหาชนก





พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก
ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี

เนื้อเรื่อง

พระเจ้าอริฏฐชนิกแห่งเมืองมิถิลา ทำสงครามพ่ายแพ้พระเจ้าโปลชนิกพระอนุชา และสวรรคตในที่รบ ขณะนั้นพระมเหสีทรงพระครรภ์ เสด็จลี้ภัยไปอยู่เมืองกาฬจัมปาก์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองมิถิลาถึง 5,120 กิโลเมตร พราหมณ์ทิศาปาโมกข์รับพระนางไปอยู่ด้วยพระนางประสูติพระโอรส และให้พระนามตามพระอัยกาว่า มหาชนก เมื่อพระมหาชนกเจริญพระชันษาขึ้นมักถูกเพื่อน ๆ ล้อว่าเป็นเด็กกำพร้า พระมหาชนกทรงถามความเป็นจริงจากพระมารดา ครั้นรู้ความจริง พระองค์ ตั้งพระทัยศึกษาศิลปวิทยาเพื่อกลับไปแก้แค้นแทนพระบิดา ต่อมา พระมหาชนกตัดสินพระทัยเดินทางไปเมืองมิถิลาโดยเดินทางค้าขายทางเรือ ไปพร้อมกับพ่อค้าคนอื่นๆ 700 ลำเรือแล่นมาได้ 3 วัน ก็เกิดพายุใหญ่ เรือทั้งหมดอับปางลง พ่อค้าคนอื่น ๆ จมน้ำตาย หรือไม่ก็ถูกปลาร้ายฮุบกินส่วนพระมหาชนกทรงปีนขึ้นบนเสากระโดง กำหนดทิศทางเมืองมิถิลาแล้วกระโดดไปตกไกลจากเรือจึงพ้นปลาร้าย พระองค์เพียรว่ายน้ำอยู่กลางทะเลถึง 7 วันก็ถึงวันอุโบสถพอดี พระองค์สมาทานศีล วันนั้นนางมณีเมขลาเทพธิดาผู้ตรวจดูทะเลเหาะมาพบเข้าเห็นพระมหาชนกมีความเชื่อมั่นในความเพียรพยายาม จึงสงสาร อุ้มพาเหาะไปไว้ในอุทยานเมืองมิถิลาพระเจ้าโปลชนกประชวรสวรรคต เมืองมิถิลาจึงว่างกษัตริย์ มีเพียงพระธิดาสีวลี ปุโรหิตจึงทำพิธีเสี่ยงรถหาคู่ให้พระธิดาราชรถวิ่งมาหยุดอยู่ที่พระมหาชนกซึ่งบรรทมหลับในอุทยานปุโรหิตและมหาชนกพร้อมใจกันอภิเษกให้พระมหาชนกเป็นกษัตริย์แห่งเมืองมิถิลาทรงพระนามว่า พระเจ้ามหาชนก พระองค์ส่งอำมาตย์ไปรับพระมารดา และพราหมณ์ทิศาปาโมกข์มาอยู่ด้วยอย่างมีความสุขพระเจ้ามหาชนกทรงเห็นสัจธรรมจากต้นมะม่วง 2 ต้น ต้นหนึ่งมีผลดก อีกต้นหนึ่งมีกิ่งใบดก ต้นมะม่วงที่มีผลดกถูกเก็บผลจนกิ่งหักเสียหาย เหมือนความเป็นกษัตริย์ ส่วนต้นมะม่วงที่มีใบดกไม่มีผลไม่ได้รับอันตรายใด ๆ เหมือนความเป็นนักบวช พระทัยของพระองค์มอบราชกิจให้แก่พระโอรสผู้มีพระนามว่า ทีฆาวุและอำมาตย์ส่วนพระองค์เสด็จออกทรงผนวชเป็นนักบวชไม่ว่าพระนางสีวลีและชาวเมืองจะขอร้องอย่างไรก็ตาม

ความพากเพียรนำไปสู่ความสำเร็จได้นั้นต้องเป็นความเพียรที่ประกอบด้วยความรัก


ชาติที่3 พระสุวรรณสาม






พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระสุวรรณสาม
ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี


เนื้อเรื่อง

ชายหนุ่มทุกุละกับหญิงสาวปาริกา ต่างเป็นบุตรของนายพรานเนื้อ พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายต้องการให้แต่งงานกัน แต่ทั้งสองเห็นว่าการมีคู่เป็นทุกข์ เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็แต่งงานกัน แล้วชวนกันออกบวชเป็นดาบสอยู่ในป่าหิมพานต์วันหนึ่งท้าวสักกเทวราชรู้ว่าดาบสทั้งสองจะตาบอด จึงลงมาและบอกให้มีบุตร โดยให้ดาบสทุกุละลูบท้องดาบสินีปาริกาพร้อมกับตั้งจิตปรารถนาขอให้ได้บุตรต่อมาไม่นาน ดาบสินีปาริกาก็ตั้งครรภ์แล้วคลอดบุตรเป็นชาย มีผิวพรรณเหลืองสวยเหมือนทองคำจึงตั้งชื่อว่า สุวรรณสาม เมื่อสุวรรณสามเติบโตเป็นชายหนุ่ม มีอายุได้ 16 ปี วันหนึ่งดาบสดาบสินีออกไปเก็บผลไม้ ตอนเย็นเกิดฝนตกหนักจึงเข้าหลบฝนข้างจอมปลวกใต้ต้นไม้ งูเห่าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในจอมปลวกพ่นพิษใส่ตาดาบสทั้งสองทำให้ตาบอดสนิท สุวรรณสามเห็นผิดเวลาจึงออกตามหาจนมาพบเข้า ได้ปลอบโยนแล้วพากลับอาศรม สุวรรณสามผูกเชือกโยงจากอาศรมไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นราวให้บิดามารดาจับเดินไป ตั้งแต่นั้นมาสุวรรณสามได้ปรนนิบัติเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นอย่างดี พระเจ้าปิลยักษ์ กษัตริย์เมืองพาราณสี โปรดการล่าเนื้อในป่าหิมพานต์ตามลำพัง เย็นวันหนึ่งพระองค์เสด็จมาถึงแม่น้ำมิคสัมมตา เห็นสุวรรณสามมีฝูงสัตว์ป่าอยู่ด้วยอำนาจเมตตาบารมี พระเจ้าปิลยักษ์ทรงประสงค์จะรู้ว่าเป็นใคร เทพหรือนาคจึงยิงศรถูกสุวรรณสาม สุวรรณสามได้รับความเจ็บปวดอย่างแรงกล้า แต่ไม่โกรธผู้ยิงหรือเกรงกลัวความตาย แต่กลับคร่ำครวญห่วงใยบิดามารดาพระเจ้าปิลยักษ์ ทรงสอบถามจนทราบเรื่องราว ทำให้พระองค์ทรงสำนึกผิด และให้สัญญากับสุวรรณสามว่า จะสละราชสมบัติมาปรนนิบัติเลี้ยงดูดาบส ดาบสินีแทน สุวรรณสาม สุวรรณสามกล่าวฝากฝังบิดามารดาแล้วก็สลบไป พระเจ้าปิลยักษ์เสด็จไปที่อาศรม ดาบสดาบสินีรู้ว่าไม่ใช่สุวรรณสาม พระองค์จึงต้องสารภาพและพาดาบสทั้งสองไปยังที่สุวรรณสามนอนสลบอยู่ ดาบสประคองศีรษะสุวรรณสามส่วนดาบสินีประคองเท้า แล้วทั้งสองก็ร้องไห้คร่ำครวญ ดาบสินีรู้สึกว่าร่างกายของสุวรรณสาม ยังมีไออุ่นอยู่จึงรู้ว่ายังไม่ตายดาบสทั้งสองจึงตั้งสัตยาธิษฐาน ด้วยบุญกุศลที่สุวรรณสามปรนนิบัติเลี้ยงดูบิดามารดา ทำให้พิษและบาดแผลหายได้ สุวรรณสามพลิกฟื้นขึ้น เทพธิดาสุนทรีซึ่งเคยเป็นมารดาสุวรรณสามในอดีตชาติ และคอยดูแลคุ้มครองสุวรรณสามอยู่ก็ตั้งสัตยาธิษฐานขึ้นบ้าง สุวรรณสามก็สามารถลุกขึ้นนั่งได้อย่างน่าอัศจรรย์ พร้อมกันนี้ ดวงตาของดาบสดาบสินีก็คืนดีดังเดิมอีกด้วย สุวรรณสามกล่าวให้โอวาทพระเจ้าปิลยักษ์ให้กระทำดีต่อพระชนกชนนี พระมเหสี พระโอรสธิดา ข้าราชบริพาร ชาวเมือง บำรุงสมณพราหมณ์ เมตตาสัตว์นานาชนิด และประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ




ชาติที่พระเนมิราช







พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเนมิราช
ทรงบำเพ็ญอธิฐานบารมี


เนื้อเรื่อง

พระเจ้าเนมิราช เป็นกษัตริย์สืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์ของพระเจ้ามฆเทวะ ซึ่งมีกษัตริย์สืบเชื้อสายกันมาถึง 84,000 พระองค์ ครองราชสมบัติแห่งเมืองมิถิลา แคว้นวิเทหะพระองค์ทรงยินดีในการบริจาคทาน โปรดให้สร้างโรงทาน 5 แห่ง ที่ประตูเมืองทั้ง 4 ด้าน และกลางเมืองอีก 1 แห่ง นอกจากนี้ พระองค์ยังแสดงธรรมชักชวนชาวเมืองทำบุญ ให้ทานรักษาศีลพระองค์มีความสงสัยว่าการให้ทาน กับการรักษาศีลอย่างไหนมีผลมากกว่ากันในคืน 15 ค่ำ วันหนึ่ง ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาถึงห้องบรรทม และได้ตรัสตอบว่า การรักษาศีลมีผลมากกว่าการให้ทาน เพราะการให้ทานส่งผลให้เกิดได้แต่ในสวรรค์ แต่การรักษาศีล ส่งผลให้ไปเกิดได้ถึงพรหมโลก การให้ทานและการรักษาศีลต่างเป็นความ ดีจึงควรทำควบคู่กันไป เทพทั้งหลายได้ทราบเรื่องพระเจ้าเนมิราชจากท้าวสักกะจึงทูลขอให้พระองค์อัญเชิญพระเจ้าเนมิราชมายังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะทรงใช้ให้มาตลีเทพบุตรขับเวชยันตราชรถมารับพระเจ้าเนมิราช ขณะที่พระองค์ประทับอยู่มหาปราสาทท่ามกลางหมู่อำมาตย์ และข้าราชบริพาร พระเจ้าเนมิราชทรงรับคำเชิญ ขึ้นประทับเวชยันตราชรถ มาตลีเทพบุตรพาพระองค์เที่ยวชมขุมนรก 15 ขุม คือ เวตรณีนรก นรกสุนัข นรกคูถ นรกน้ำเหลืองน้ำหนอง นรกเบ็ด นรกภูเขาเหล็กแดง นรกบ่อไฟ นรกสัตว์น่าเกลียด เป็นต้น แล้วมาตรี เทพบุตรก็นำพระองค์ไปชมสวรรค์ บันดาลให้สวรรค์ทุกชั้นปรากฏให้เห็นหลังจากนั้นก็นำเข้าเฝ้าท้าวสักกะ ณ สุธรรมาเทวสภา ท้าวสักกะเชิญชวนให้พระเจ้าเนมิราชเสวยทิพยสมบัติอยู่กับพระองค์ พระเจ้าเนมิราชทรงปฏิเสธ ขอกลับไปสร้างบุญกุศลของพระองค์ เองให้มาก เมื่อพระเจ้าเนมิราชเสด็จกลับมา พระองค์ตรัสเล่าเรื่องนรกสวรรค์ และผลการกระทำให้ข้าราชบริพารและชาวเมืองได้ฟัง ทำให้ทุกคนยึดมั่นในการทำความดีมากยิ่งขึ้น พระเจ้าเนมิราชเสวยราชย์ด้วยความผาสุกสืบมา จนล่วงเข้าสู่วัยชราพระองค์ก็เสด็จออกผนวชอยู่ใน อุทยานสวนมะม่วง ตามโบราณราชประเพณีของราชวงศ์ทุกพระองค์ พระองค์เจริญพรหมวิหาร 4 สำเร็จฉาณสมาบัติ เมื่อสิ้นอายุขัยได้ไปเกิดบนพรหมโลก


ชาติที่พระมโหสถ







พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระมโหสถ
ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี


เนื้อเรื่อง

มโหสถเป็นบุตรชายของท่านเศรษฐีสิริวัฒกะกับนางสุมนาเทวี ณ หมู่บ้านปาจีนวยมัชคาม ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองมิ ถิลา แคว้นวิเทหะ เมื่อคลอดออกมาจากครรภ์มารดาได้ถือแท่งยาออกมาด้วยจึงได้ชื่อว่า มโหสถ (ผู้มียาขนานเอก)และพอผนยานี้ทาหน้าผากท่านเศรษฐีเพียงเล็กน้อยท่านก็หายจากโรคปวดศีรษะ ซึ่งเป็นมานานถึง 6 ปี สิริวัฒกเศรษฐีแจกจ่ายยารักษาแก่คนทั่วไป จนเลื่องลือไปทั่วเมื่อมโหสถมีอายุได้ 7 ปี ได้สร้างศาลาใหญ่ไว้กลางหมู่บ้าน ให้เป็นที่พักอาศัยของคนเดินทางและศาลาแห่งนี้ มโหสถได้ใช้ตัดสินคดีต่าง ๆ อย่างชาญฉลาด ดังเช่น คดีลักวัวมโหสถให้วัวกินน้ำใบประยงค์โขลก วัวสำรอกอาหารออกมา ผู้เป็นเจ้าของจะสามารถบอกชนิดของอาหารวัวได้ถูกต้อง อีกคดีหนึ่ง คดีหญิงแย่งลูก มโหสถให้หญิ่งทั้งสองดึงแย่งเด็กกัน ผู้ที่ปล่อยมือเพราะสงสารเด็กคือมารดาที่แท้จริงของเด็กพระเจ้าวิเทหราชกษัตริย์แห่งเมืองมิถิลา ทรงทดลองภูมิปัญญาของมโหสถโดยส่งไม้ตะเคียนกลึงยาว 1 คืบ ให้หาด้านโคนและปลาย มโหสถเอาเชือกผูกกลางท่อนไม้หย่อนลงในน้ำ โคนไม้จะจมน้ำก่อน พระเจ้าวิเทหราชรับสั่งให้มโหสถเข้าเฝ้า พระองค์มีความเชื่อว่า บิดามารดาย่อดีกว่าบุตรเสมอ มโหสถกราบทูลเปรียบเทียบกับลาที่ตกลูกเป็นม้าอัสดร และสรุปว่า ไม่แน่ว่าบิดามารดาจะดีกว่าบุตรเสมอไป พระเจ้าวิเทหราชพอพระทัยให้มโหสถเข้ารับราชการ มโหสถเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหราชและพระนางอุทุมพรเมื่อมโหสถอายุ 16 ปี ออกเดินทางเสาะหาคู่ครอง พบสาวชาวนานางหนึ่งอยู่หมู่บ้านอุตตรวยมัชคาม ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองมิถิลา ชื่อ อมรกุมารี นางมีรูปสวยและฉลาด มโหสถได้ทดลองจนแน่ใจ จึงรับมาเป็นภรรยาขณะรับราชการ ปุโรหิตทั้ง 5 คน คือ เสนกะ ปุกุกุสะ เทวินท์ และกามินท์ มีความอิจฉามโหสถ พยายามใส่ร้ายว่าเป็นกฏบอยู่เนือง ๆ มโหสถหนีไปอยู่กับช่างปั้นหม้อทางด้านใต้ของเมืองมิถิลา เทพประจำเมืองช่วยเหลือ โดยปรากฏตัวเข้าไปถามปัญหาพระเจ้าวิเทหราช ปุโรหิตทั้ง 5 คนไม่สามารถตอบคำถามได้ จึงต้องติดตามมโหสถมาตอบ พระเจ้าวิเทหราชยิ่งโปรดปรานยิ่งขึ้น ทรงมอบราชกิจต่างประเทศให้บริหารแคว้นวิเทหะรุ่งเรือง และได้ทำหน้าที่สั่งสอนธรรมะแก่พระองค์ด้วยในชมพูทวีป มีกษัตริย์ครอบครอบแว่นแคว้นต่าง ๆ จำนวน 101 พระองค์ กษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าจุลลนีคิดการใหญ่โดยมีปุโรหิตเกวัฏฏะเป็นที่ปรึกษา พระเจ้าจุลลนียกกองทัพเข้ายึดแคว้นต่าง ๆ ได้สำเร็จ จนเหลือแคว้นวิเทหะเป็นแคว้นสุดท้ายจึงยกกองทัพเข้าล้อมเมืองมิถิลาไว้ มโหสถวางแผนป้องกันเมือง และตีทัพพระเจ้าจุลลนีแตกไปได้ต่อมา มโหสถสามารถทำให้พระเจ้าจุลลนีทรงยกพระธิดาพระนามว่า ปัญจาลจันที ให้เป็นมเหสีของพระเจ้าวิเทหราชเมื่อพระเจ้าวิเทหราชสวรรคตแล้ว มโหสถได้อภิเษกพระโอรสพระองค์หนึ่งขึ้นครองราชย์แทน แล้วก็ทูลลาไปรับราชการกับพระเจ้าจุลลนีที่เมืองอุตตรปัญจาลนคร ตามที่พระองค์ขอร้อง และอยู่ด้วยความผาสุก

 ปัญญาย่อมประเสริฐกว่าทรัพย์ คนมีปัญญาย่อมหาทรัพย์ได้ และรักษาไว้ได้ด้วย




ชาติที่6 พระภูริทัต







พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระภูริทัต
ทรงบำเพ็ญศีลบารมี


เนื้อเรื่อง

พระนางสมุททชา พระธิดาของพระเจ้าพรหมทัต ได้อภิเษกกับพญานาคฐตรฐแห่งนาคพิภพ มีพระโอรส 4
พระองค์ คือ สุทัสสนกุมาร ทัตตกุมาร สุโภคกุมาร และอริฏฐกุมาร ทัตตกุมารฉลาดกว่าผู้อื่น บิดาจึงมอบหมาย
งานให้ทำมากกว่า คราวหนึ่ง ทัตตกุมาร ได้ติดตามพระบิดาและท้าววิรูปักษ์เข้าเฝ้าท้าวสักกเทวราช ทัตตกุมาร
ได้แสดงความสามารถให้ท้าวกักกะโปรดปราน จึงตั้งชื่ให้ว่า ภูริทัตตกุมาร (พระกุมารผู้มีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน) ภูริทัตตกุมารหมั่นรักษาศีล เพราะรู้ว่าผลของการรักษาศีลจะได้เกิดเป็นเทพบนสวรค์ ครั้งหนึ่งพระองค์
ขออนุญาตพระบิดาพระมาร ดามารักษาศีลบนโลกมนุษย์ พระองค์รักษาศีลอย่างเคร่องครัด อธิษฐานจิตไว้มั่น
คงว่า หนัง เอ็น กระดูก เลือดเนื้อ หากผู้ใดต้องการก็จง เอาไปเภิด ไม่ปกป้อง ไม่หวงยินดีสละให้พรานเนื้องชาวเมืองพาราณสีสองพ่อลูก ออกล่าเนื้อมาถึงริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ใกล้บริเวณที่ภูริทัตตกุมารจำศีลอยู่เมื่อเห็นภูริทัตตกุมาร ก็เข้าไปสอบถาม พระภูริทัตบอกตามความจริงแล้วพาพรานทั้งสองไปเที่ยวเสวยสุขในนาคพิภพ เวลาผ่านไป 1 ปีพรานทั้งสอง ลาพระภูริทัตกลับโลกมนุษย์ ต่อมา มีพราหมณ์คนหนึ่ง เรียนมนต์จับงูจากฤาษีตนหนึ่ง มนต์นั้นชื่อ มนต์อาลัมพายน์ คนทั่วไปจึงเรียกเขาว่า พราหมร์อาลัมพายน์ อำนาจมนต์ช่วยให้ได้แก้ววิเศษจากพวกนางนาค พรานผู้เป็นพ่อเห็นเข้าต้องการได้ จึงแลกเปลี่ยนด้วยการบอกที่รักษาศีลของพระภูริทัต และทรมานด้วยวิธีการต่าง ๆ พระภูริทัตไม่ยอมไม่ยอมให้ความโกรธเกิดขึ้น เพราะต้องการรักษาศีลพราหมณ์อาลัมพายน์ได้นำ พญานาคภูริทัตไปแสดงกลเรี่ยไรเงินได้จำนวนมากพระนางสมุททชาทรงฝันร้าย และไม่เห็นพระภูริทัตมาเฝ้าดังเคย จึงแน่พระทัยว่าพระโอรสประสบภัย พระโอรสทั้งสามพระองค์ รับอาสาออกติดตาม สุทัสสนกุมารแปลงตัวเป็นฤาษี ติดตามไปจนพบพราหมณ์อาลัมพายน์กำลังเปิดแสดงที่ประตูพระราชวังพาราณสี พญานาคภูริทัตเห็นฤาษีแปลงก็เลื้อยเข้ามาซบ ร้องไห้แทบเท้าพี่ชายฤาษีแปลงวางแผนช่วยเหลือ โดยท้าให้สู้กับพิษของเขียดซึ่งเป็นนาง นาคแปลง พิษร้ายนั้นได้ถูกผิวหนังพราหมณ์อาลัมพายน์จนกลายเป็นโรคเรื้อน เขาตกใจ ยอมปล่อยพญานาคภูริทัต สุทัสสนกุมารและ พระภูริทัตเข้าเฝ้าพระเจ้าพาราณสี กราบทูลให้พระองค์ทรงทราบว่า เป็นพระโอรสของพระนางสมุททชาพระขนิษฐาของพระองค์ พระภูริ ทัตกลับไปพักรักษาพระองค์ แล้วได้กล่าวว่า พราหมณ์กับผู้ครองเรือนปุถุชนทั่วไปยังหมกมุ่นในกามคุณ ยังต้องการทรัพย์สิน ข้าว บ่าวไพร เหมือนกัน

การทำความดีนั้นอาจมีอุสรรคมาทดสอบแต่สุดท้ายก็จะประสบชัยชนะ





ชาติที่7 พระจันทกุมาร







พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นเจ้าชายจันทกุมาร
ทรงบำเพ็ญขันติบารมี


เนื้อเรื่อง


เจ้าชายจันทกุมาร เป็นโอรสของพระเจ้าเอกราชแห่งเมืองปุปผวดี พระบิดาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอุปราช ทำหน้าที่ว่าราชการ แทน พระเจ้าเอกราชมีปุโรหิตคนหนึ่งชื่อ กัณฑาหาละทำหน้าที่ถวายคำแนะนำและตัดสินคดีความ เข้าทำหน้าที่ดีในตอนแรก ๆ ต่อมารับ สินบน จนเจ้าชายจันทกุมารทรงทราบเรื่อง และช่วยพลิกคดีให้เจ้าทุกข์ที่ได้รับความอยุติธรรม เมื่อพระเจ้าเอกราชทรงทราบ จึงแต่งตั้ง ให้เจ้าชายจันทกุมารเป็นผู้พิพากษา แทนปุโรหิตกัณฑหาละ ทำให้กัณฑหาละโกรธแคนหาทางทำลายล้างเจ้าชายจันทกุมารตลอดมา คืนหนึ่ง พระเจ้าเอกราชทรงฝันเห็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เห็นท้าวสักกเทวราชประทับในปราสาทแวดล้อมด้วยเทพธิดาความฝันทำ ให้พระองค์ปราถนาไปเที่ยวสวรรค์ กัณฑหาละเห็นเป็นโอกาส จึงทูลแนะนำให้บูชายัญด้วยพระมเหสี พระโอรส พระธิดา ถวายเทพเจ้า พระเจ้าเอกราชทรงเบาปัญญาเชื่อกัณฑหาละ รับสั่งให้นำพระมเหสี 4 พระองค์ พระโอรส 5 พระองค์ พระธิดา 4 พระองค์ รวมทั้งเศรษ ฐีประจำแคว้น 4 คนมารวมกันไว้ นอกจากนี้  พระองค์ให้นำพาหนะสำคัญ มีทั้งช้าง ม้า โค อุสุภราช (วัวตัวผู้ลักษณะดี) มาบูชายัญด้วย พระบิดาพระมารดาของพระเจ้าเอกราชเสด็จมาขอร้องก็ไม่ทรงยอม ต้องเสด็จกลับไปด้วยความเสียพระทัย เจ้าชายจันทกุมารทรงทราบว่าพระองค์เป็นต้นเหตุเพราะไปขัดแย้งกับปุโรหิตกัณฑหาละ จึงเป็นหน้าที่ที่พระองค์ต้องแก้ไข พระองค์ ทรงขอร้องพระบิดาจนพระทัยอ่อน ยินยอมปล่อยทุกคนถึง 3 ครั้ง แต่ทุกครั้งปุโรหิตกัณฑหาละกราบทูลทัดทาน จนพระเจ้าเอกราชรับสั่ง ให้จับทุกพระองค์เป็นครั้งที่ 4 แล้วพาออกนอกพระนคร ชาวเมือง
ร้องไห้คร่ำครวญทั่วพระนคร บรรยากาศเต็มไปด้วยความเศร้าโศก เจ้า ชายจันทกุมารประทับยืนอยู่ปากหลุมบูชายัญ วิงวอนพระบิดาเป็นครั้งที่ 4 พระนางจันทาชายาของเจ้าชายจันทกุมารได้ช่วยวิงวอนด้วย แต่พระเจ้าเอกราชไม่พระทัยอ่อน ยืนยันจะบูชายัญ ก่อนที่เจ้าชายจันทกุมารจะถูกประหารด้วยคมดาบของกัณฑหาละท้าวสักกเทวราชถือตะบองเหล็กเสด็จมาทำลายพิธีตรัสตำหนิ พระเจ้าเอกราชอย่างรุนแรง พระเจ้าเอกราชตกพระทัยกลัว รับสั่งให้ปล่อยทุกคนและสัตว์ทั้งหลาย ชาวเมืองได้โอกาสเข้ารุมทุบตีปุโรหิต กัณฑหาละ จนถึงแก่ความตาย จากนั้นจะเข้าปลงพระชนม์พระเจ้าเอกราช เจ้าชายจันทกุมารเข้าขัดขวาง และอ้อนวอนขอชีวิต ชาว เมืองยอมยกให้ แต่ให้เนรเทศไปอยู่ในหมู่บ้านคนจัณฑาล แล้วอภิเษกเจ้าชายจันทกุมารเป็นกษัตริย์ พระองค์เสด็จไปเยี่ยมพระบิดาอยู่ เนืองๆ และปกครองเมืองปุปผวดีให้ผาสุกสืบมา 

การฟังเรื่องราวใด ต้องใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบมิฉะนั้นจะหลงเชื่อและกระทำผิดเสียหายได้





ชาติที่8 พระนารทพรหม




พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระนารทพรหม
ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี


เนื้อเรื่อง

พระเจ้าอังคติราชเป็นกษัตริย์ซึ่งทรงทศพิธราชธรรมแห่งเมืองมิถิลา พระองค์มีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง พระนาม
ว่ารุจา และมี อำนาตย์ใหญ่ที่รับใช้ใกล้ชิดอยู่ 3 คน คือ วิชัยอำมาตย์ สุนามอำมาตย์และอลาตอำมาตย์ คืนหนึ่งเป็นคืนวันเพ็ย เดือน 12 ท้องฟ้าแจ่มใส พระเจ้าอังคติราชตรัสปรึกษากับอำมาตย์ทั้ง 3 ว่า ควรทำอะไรจึงจะเป็นประโยชน์ อลาตอำมาตย์กราบทูลแนะนำให้ยกทัพไปตีเอาบ้านเมือง สุนามอำมาตย์กราบทูลให้จัดงานเลี้ยง ขับร้องฟ้อนรำให้สนุกสนาน ส่วนวิชัย อำมาตย์กราบทูลให้เสด็จไปสนทนาธรรมกับสมณพราหมณ์ พระเจ้าอังคติราชตกลงพระทัยไปสนทนากับคุณาชีวก ซึ่งเป็นนักบวชที่มีชื่อ เสียง มีคนนับถือมากในเวลานั้น พระองค์ตรัสถามถึงหนทางไปสู่สวรรค์ หนทางไปสู่นรกและการปฏิบัติต่อบิดามารดา ครูอาจารย์ บุตร ภรรยา ผู้เฒ่าผู้แก่ สมณพราหมณ์ พลพาหนะและบ้านเมือง คุณาชีวกตอบตามความรู้ความเข้าใจของตนว่า ไม่มีบุญ ไม่มีบาป บิดามารดาไม่มี สัตว์คน เสมอกัน จะได้ดีได้ชั่วเอง เวียนว่ายตายเกิด 64 กัปป์ก็บริสุทธิ์เอง อลาต อำมาตย์กล่าวสนับสนุนในด้านไม่มีบาปไม่มีผลของบาป เขา ระลึกได้ว่า ชาติที่แล้วเขาเป็นคนฆ่าวัว ในชาตินี้ เขากลับได้มาเกิดในตระกูลขุนนาง วีรกะ เป็นชายเข็ญใจผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในที่นั้นกล่าวสนับ สนุนคำสอนที่ว่า บุญและผลของบุญไม่มี เขาระลึกได้ว่า เขาเคยเกิดเป็นเศรษฐี ทำความดีไว้มาก แต่ชาตินี้เขากลับมาเกิดเป็นคนเข็ญใจ คนทั้งสองนี้ระลึกชาติได้เพียงชาติเดียวจึงหลงผิด พระเจ้าอังคติราชหลงผิดเชื่อตามคำสอนของคุณาชีวกจึงเปลี่ยนพระจริยาวัตร เลิกทำความดี หันมาใช้ชีวิตอย่างสำราญ เลิกศึกษา ข้อธรรมต่าง ๆ ไม่สนพระทัยในราชกิจและประชาชนทั้งปวง พระธิดารุจาทรงทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของพระบิดา พระธิดาเสด็จเข้าเฝ้าพระเจ้าอังคติ
ราช ตรัสติงในมิจฉาทิฏฐินั้นแม้ว่าพระ ธิดาจะตรัสอธิบายอย่างไร พระเจ้าอังคติราชก็ไม่ทรงฟัง พระธิดารุจาทรงอ้อนวอนต่อเทพพรหมผู้ทรงธรรมทั้งหลายได้โปรดมาช่วยกลับ พระทัยของพระบิดาให้ถูกต้องด้วยท้าวมหาพรหมองค์หนึ่ง นามว่า นารทะ ทรงได้ยินคำอ้อนวอนเกิดเมตตา จึงแปลงเป็นฤาษีเหาะมาอยู่เฉพาะพระ
พักตร์ทั้งสอง พระองค์ นารทพรหมพยายามอธิบายและพรรณนาถึงโทษของนรกขุมต่างๆ พระเจ้าอังคติราชค่อย
พิจารณาตาม จนกลับมามีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องดุจเดิมพระธิดารุจาดีพระทัยมาก แคว้นวิเทหะกลับมามี
ความสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง

ไม่ควรคบและเชื่อฟังคนพาล ควรคบแต่นักปราชญ์ที่เป็นคนดีมีศีลธรรม



ชาติที่9 พระวิธูรบัณฑิต






พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นวิธูรบัณฑิต
ทรงบำเพ็ญสัจจบารมี


เนื้อเรื่อง

พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะครองเมืองอินทปัตย์แคว้นกุรุวันหนึ่งพระองค์ทรงแสวงหาความ สงบสุขในมิคาชินอุทยานพระองค์ได้ พบแปลง 3 คน คือ ท้าวสักกะ พญาครุฑ พญานาค คนทั้ง 4 หาที่วิเวกรักษาอุโบสถศีล เมื่อ
ได้พบกันถูกชะตากัน เพราะเคยเป็นเพื่อน กันมาแต่อดีตชาติ พระองค์ได้สนทนากันว่า ใครรักษาศีลได้ดีกว่ากัน
เมื่อตกลงกันไม่ได้ พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะจึงพาชายแปลงทั้ง 3 คนมาหาวิธูรบัณฑิต ซึ่งเป็นบัณฑิตประจำราช
สำนัก วิธูรบัณฑิตวินิจฉัยให้ทั้ง 4 พระองค์ ทำความดีสนับสนุนศีลให้สมบูรณ์เสมอกัน ถ้ามีพร้อมใหนบุคคลใด ก็
เป็นเหมือนกำเกวียนที่รวมมั่นอยู่ในดุมเกวียน จะทำให้สงบระงับบาปได้เมื่อพญานาคกลับถึงนาคพิภพ ได้เล่าให้นางวิมลามเหสีฟัง นางมีความศรัทธาใคร่ได้ฟังธรรมจากวิธูรบัณฑิตนางแสร้งป่วย และบอกพญานาคว่า ต้องการหัวใจของวิธูรบัณฑิต นางอิรันทตีซึ่งเป็นธิดาของพญานาคกับนางวิมาลา มีรูปร่างสวยงาม ฉลาด เมื่อ ทราบถึงความต้องการมารดา ก็รับอาสาและขึ้นมาสู่โลกมนุษย์ เหาะไปที่ภูเขากาลคีรี แล้วขับร้องเพลงซึ่งมีเนื้อความว่า ผู้ใดนำหัวใจ วิธูรบัณฑิตมาได้ นางจะยอมเป็นภรรยาขณะนั้นปุณณกยักษ์ควบม้าเหาะผ่านมา เห็นนางอิรันทตีก็เกิดหลงรัก จึงเข้ารับอาสา ปุณณกยักษ์แปลงเป็นหนุ่มน้อย เข้าไป ท้าเล่นสกากับพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ ซึ่งกำลังเป็นประธานในที่ประชุมกษัตริย์ทั่วทั้งชมพูทวีปในที่สุดปุณณกยักษ์เป็นฝ่ายชนะ ขอสิ่ง พนัน คือ วิธูรบัณฑิต พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะไม่ทรงยินยอม เมื่อทั้งสองตกลงกันไม่ได้ก็ไปหาวิธูรบัณฑิตตัดสิน วิธูรบัณฑิตตัดสินให้ปูณณกยักษ์เป็นฝ่ายถูกวิธูรบัณฑิตแสดงธรรมถวายพระเจ้าธนัญชัย และร่ำลาบุตรภรรยา สั่งสอนให้บุตรชายทั้ง สอง รู้ถึงข้อวัตรปฏิบัติที่ดีของข้าราชการ ต่อจากนั้นก็เดินทางไปกับปุณณกยักษ์ ระหว่างทาง ปุณณกยักษ์พยายามฆ่าวิธูรบัณฑิตครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ด้วยบุญบารมีของวิธูรบัณฑิต ทำให้แคล้วคลาดจากความตาย มาตลอด วิธูรบัณฑิตได้แสดงธรรมแก่ปุณณกยักษ์ ปุณณกยักษ์เกิดความเลื่อมใส จึงพาไปนาคพิภพ วิธูรบัณฑิตได้แสดงธรรมแก่พญานาค และนางวิมลา ให้ทั้งสองมีเมตตาจิตต่อนาคบริวาร ปรารถนาให้เขาทั้งหลายมีความสุขพญานาคกับนางวิมลายกนางอินันทตีให้ปุณณกยักษ์ ตามสัญญา ปุณณกยักษ์ปลาบปลื้มใจมาก และนำวิธูรบัณฑิตกลับสู่เมืองอินทปัตถ์

ผู้มีสัจจะต่อตนเองและผู้อื่นเป็นคนดี เมื่อประสบภัยย่อพ้นภัยได้





ชาติที่10 พระเวสสันดร






พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร
ทรงบำเพ็ญทานบารมี

เนื้อเรื่อง

เทพธิดาผุสดี อัครมเหสีของท้าวสักกเทวราช ได้รับพร 10 ประการเมื่อต้องจุติมาปฏิสนธิเป็นมนุษย์ พรประการ
หนึ่ง คือ ให้มี โอรสที่ทรงพระเกียรติยส พระนางได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสัญชัยแห่งแคว้นสีพี และประสูติพระ
โอรสที่ตรอกพ่อค้าขณะเสด็จประพาส พระนคร จึงขนานพระนามว่า พระเวสสันดร (ผู้เกิดท่ามกลางพ่อค้า)
พระเวสสันดรครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุ 16 พรรษา อภิเษกสมรสกับพระนางมัทรี เจ้าหญิงแห่งแคว้นมัททะ มี
พระโอรสและพระ ธิดา คือ เจ้าชายชาลี กับเจ้าหญิงกัณหา พระเวสสันดรมีพระทัยกระหายการให้ทาน จึงสร้าง
โรงทานถึง 6 แห่งต่อมาได้พระราชทาน ช้างปัจจัยนาค ซึ่งเป็นช้างมงคลคู่พระนครให้แก่ทูตของแคว้นกาลิงคะ
ชาวเมืองสีพีไม่พอใจ พากันไปกราบทูลพระเจ้ากรุงสัญชัยให้เนรเทศ พระเวสสันดรได้เสด็จออกบวชเป็นฤาษีที่
เขาวงกต โดยพระนางมัทรี เจ้าชายชาลี เจ้าหญิงกัณหาติดตามไปด้วย ในแคว้นกาลิงคะ พราหมณ์ชราชูชก มี
ภรรยาสาวชื่อนางอมิตตาคา นางให้ชูชกไปขอพระกุมารชาลีกัณหามารับใช้ชูชกออกเดินทาง ไปเขาวงกต ได้พบกับพรานเจตบุตร ซึ่งพระเจ้าเจตราชทรงตั้งไว้ถวายการอารักขาพระเวสสันดร ชูชกอ้างว่าตนเป็นทูตจากแคว้นสีพีมา ทูลเชิญพระเวสสันดร พระนางมัทรีและพระโอรสธิดากลับเมือง จึงผ่านไปได้ และเพื่อทราบทางเข้าสู่เขาวงกตชูชกไปยังพระอาศรมของ พระเวสสันดร ได้กล่าวกับพระอัจจุตฤาษีว่าจะมาสนทนาธรรมกับพระเวสสันดร ชูชกรอให้รุ่งเช้า พระนางมัทรีออกไปหาผลไม้ จึงเข้าไป ขอสองกุมาร พระเวสสันดรทรงยินดียกให้ พร้อมทั้งคาดค่าตัวไว้ด้วย ชูชกรีบนำสองกุมารไปก่อนที่พระนางมัทรีเสด็จกลับ ท้าวสักกะเกรงว่าจะมีผุ้มาขอพระนางมัทรี จึงแปลงเป็นพราหมณ์มาขอทูลขอ แล้วถวายคืน แล้วได้ถวายพร 8 ประการ ก่อนเสด็จกลับ ดาวดึงส์ ชูชกพาพระกุมารชาลีกัณหามาถึงทางสองแพร่ง ด้วยบุญบารีของพระกุมาร จึงบันดาลให้ชูชกตัดสินใจไปเมือง
เชตุดรเข้าเฝ้าพร พระเจ้าสัญชัยและพระนางผุสดีทรงไถ่พระนัดดา แล้วพระองค์ตรัสสั่งให้จัดกระบวนข้าราชบริพาร ไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ที่เขาวงกต เมื่อกษัตริย์ทั้ง 6 พระองค์ ทรงพบกัน ก็ดีพระทัย
จนสลบลง ขณะนั้นได้เกิดฝนโบขรพรรษ ต้องพระวรกาย ช่วยให้ทุกพระองค์ และทุกคนได้สติฟื้นขึ้นมา แล้วเสด็จกลับสู่พระนคร


เทพสามฤดู

เทพสามฤดู   เป็นนิทาน พื้นบ้านของไทย ปรากฏเป็นหนังสือครั้งแรก โดยพิมพ์ที่โรงพิมพ์วัดเกาะ   เคย ถูกสร้างเป็นละคร  ในปี 2517 ในชื่อ ฝนสามฤดู ...